ริโทดรีน (Ritodrine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 20 สิงหาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- ริโทดรีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- ริโทดรีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ริโทดรีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ริโทดรีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ริโทดรีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ริโทดรีนอย่างไร?
- ริโทดรีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาริโทดรีนอย่างไร?
- ริโทดรีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เบต้า 2 แอดริเนอร์จิก อโกนิสท์ (Beta2 - adrenergic agonists)
- คลอดก่อนกำหนด (Preterm labor)
- ปอดบวมน้ำ (Pulmonary edema)
- ทารกเสียชีวิตในครรภ์ (Intrauterine fetal demise)
- การคลอด การคลอดบุตร (Childbirth)
บทนำ: คือยาอะไร?
ริโทดรีน (Ritodrine, ชื่ออื่น เช่น Ritodrine hydrochloride,ชื่อการค้าในต่างประเทศ เช่น Yutopar) คือ ยายับยั้งอาการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด มีรูปแบบของผลิตภัณฑ์ทั้งแบบรับประทานและแบบยาฉีด,จัดอยู่ในยากลุ่ม Beta 2-adrenergic agonist ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้กล้ามเนื้อเรียบเกิดการคลายตัว
ทั้งนี้ การตัดสินใจที่จะใช้ยาริโทดรีนหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับแพทย์แต่เพียงผู้เดียวที่จะเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมในการใช้ยานี้ โดยมีเงื่อนไขบางประการที่ต้องนำมาประกอบกัน เช่น
- ผู้ป่วยต้องไม่มีประวัติการแพ้ยานี้
- มีเลือดออกในระหว่างการปวดครรภ์หรือไม่
- มีโรคประจำตัวเรื้อรังที่ยังต้องรักษาต่อเนื่องเช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ปวด ศีรษะไมเกรน โรคหัวใจ โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ด้วยยาริโทดรีนอาจทำให้อาการของโรคดังกล่าวกำเริบมากขึ้น
- ทารกในครรภ์ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่
ทั่วไป การใช้ยาริโทดรีนในลักษณะลดอาการเจ็บครรภ์คลอดบุตรนั้น แพทย์จะใช้เป็นยาฉีดก่อนเพื่อบำบัดอาการปวด/เจ็บครรภ์คลอดได้อย่างรวดเร็ว จากนั้นจึงจะจ่ายยาตามมาในลักษณะยารับประทาน ขนาดยานี้ที่ใช้กับผู้ป่วยแต่ละรายก็มีความแตกต่างกันออกไปทั้งนี้ขึ้นกับ การตอบสนองของผู้ป่วยเอง ประการสำคัญต้องควบคุมปริมาณน้ำในร่างกายผู้ป่วยทั้งนี้เพื่อป้อง กันการบวมของปอด/ปอดบวมน้ำ (Lung swelling/Pulmonary edema)
ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียงอื่นที่สามารถพบเห็นได้หลังการใช้ยาริโทดรีนมักจะเกิดต่อระบบการทำงานของหัวใจ ระบบประสาท และระบบทางเดินอาหาร อย่างไรก็ตามอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นมักจะทุเลาลงเมื่อหยุดการใช้ยา ซึ่งปกติร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 1.7 - 2.6 ชั่วโมงในการกำจัดยาริโทดรีนออกจากกระแสเลือด
อนึ่ง: มีเหตุผลบางประการที่ไม่ทราบแน่ชัด ที่ประเทศในแถบทวีปอเมริกาเพิกถอนการใช้ยาริโทดรีน แต่เราจะยังพบเห็นการใช้ยานี้ได้ในแถบเอเชีย เช่น ประเทศอินเดีย ประเทศไทย เป็นต้น
ริโทดรีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาริโทดรีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช่: เช่น
- ยับยั้งอาการปวด/เจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด (Stop premature labor)
ริโทดรีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาริโทดรีนคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ที่กล้ามเนื้อเรียบของผนังมดลูกส่ง ผลให้มดลูกเกิดการคลายตัว ลดแรงดันและลดความถี่ของการบีบตัวลง ยานี้ยังส่งผลให้หลอดลมคลายตัวได้อีกด้วย แต่สรรพคุณข้อนี้ก็ไม่ได้เป็นประโยชน์ที่โดดเด่นต่อการรักษาอาการทางหลอด ลมหรือต่อมดลูกแต่อย่างใด
ริโทดรีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาริโทดรีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย: เช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 10 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาฉีด ขนาด 50 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร
ริโทดรีนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาริโทดรีนมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา: เช่น
ก. ยาฉีด: เช่น
- ผู้ใหญ่:
- กรณีให้ยาทางหลอดเลือดดำเริ่มต้นที่อัตรา 0.05 มิลลิกรัม/นาที และเพิ่มขนาดการให้ยาอีก 0.05 มิลลิกรัม/นาทีในทุก 10 นาทีจนกระทั่งอาการปวด/เจ็บครรภ์คลอดของผู้ป่วยทุเลาลง, โดยอัตราการให้ยาปกติอยู่ที่ 0.15 -35 มิลลิกรัม/นาที
- กรณีฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อใช้ยาขนาด 10 มิลลิกรัมฉีดเข้ากล้ามเนื้อทุกๆ 3 - 8 ชั่วโมง เมื่ออาการผู้ ป่วยดีขึ้นและมดลูกลดการบีบตัวลง, แพทย์อาจต้องให้ยาอีกทุกๆ 12 - 48 ชั่วโมงเพื่อคงระดับการรักษาไว้
ข. ยารับประทาน: เช่น
- ผู้ใหญ่: ควรให้ยารับประทานกับผู้ป่วยเป็นเวลา 30 - 60 นาทีก่อนหยุดการใช้ยาฉีดซึ่งปกติ การใช้ยารับประทานอยู่ที่ 10 - 20 มิลลิกรัมทุกๆ 4 - 6 ชั่วโมง ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 120 มิลลิกรัม/วันโดยรับประทานยานี้ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
*อนึ่ง: เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ทางคลินิกยังไม่มีการจัดทำขนาดยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาริโทดรีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาริโทดรีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาริโทดรีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับ ประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ริโทดรีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาริโทดรีนสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง): เช่น
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น มีภาวะหัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดปกติ แน่นหน้าอก/เจ็บหน้าอก
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปากคอแห้ง กระหายน้ำ คลื่นไส้อาเจียน เจ็บคอ/คออักเสบ เบื่ออาหาร ปวดกระเพาะอาหาร/ปวดท้องบริเวณลิ้นปี่
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ง่วงนอน ปวดหัว วิตกกังวล กระสับกระส่าย มีภาวะตัวสั่น และอารมณ์แปรปรวน
- ผลต่อตา: เช่น เกิดอาการตาพร่า
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีภาวะผิวแห้ง ผื่นคัน
มีข้อควรระวังการใช้ริโทดรีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาริโทดรีน: เช่น
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีที่บุตร/ทารกเสียชีวิตในครรภ์
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ผู้ที่อยู่ในภาวะตกเลือด สตรีตั้งครรภ์ที่อยู่ในภาวะชัก
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ผู้ป่วยต่อมไทรอยด์เป็นพิษ/ ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง
- ระวังการใช้ยานี้เพื่อวัตถุประสงค์เป็นยาขยายหลอดลมในสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ควบคุมและเฝ้าระวังภาวะปอดบวมน้ำ ขณะที่ใช้ยานี้และต้องหยุดการใช้ยานี้ทันทีเมื่อเกิดภาวะปอดบวมน้ำ
- ในระหว่างที่ใช้ยานี้ต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและระดับเกลือโพแทสเซียมในเลือดของผู้ป่วยให้อยู่ในภาวะปกติเสมอ
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาริโทดรีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ริโทดรีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาริโทดรีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น: เช่น
- การใช้ยาริโทดรีน ร่วมกับยา Dolasetron, Droperidol, Methadone อาจส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาริโทดรีน ร่วมกับยา Albuterol/Ventolin, Phenylephrine, อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงต่างๆตามมา เช่น หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง หรือไม่ก็เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- การใช้ยาริโทดรีน ร่วมกับยาเบาหวาน เช่นยา Glimepiride, Metformin สามารถทำให้ประสิทธิภาพการลดน้ำตาลในกระแสเลือดของยารักษาโรคเบาหวานลดน้อยลง กรณีที่ต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาริโทดรีน ร่วมกับยา Theophylline ด้วยจะทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงต่อระบบการทำงานของหัวใจมากยิ่งขึ้น เช่น ชีพจรเต้นเร็ว เกิดความดันโลหิตสูง และเสี่ยงกับการเกิดภาวะเกลือโพแทสเซียมในเลือดต่ำ (ซึ่งจะก่อให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง มีภาวะอัมพาต หายใจลำบาก กลืนลำบาก) รวมถึงเกิดอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะตามมา
ควรเก็บรักษาริโทดรีนอย่างไร?
ควรเก็บยาริโทดรีน: เช่น
- เก็บยาในช่วงอุณหภูมิห้องที่เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ริโทดรีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาริโทดรีน มียาชื่อการค้าอื่น และ บริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Feto Care (เฟโท แคร์) | Swiss Pharma Pvt. Ltd. |
Gynospa (จายโนสปา) | Saimark Biotech Pvt. Ltd. |
Miolene (มิโอลีน) | Menarini Raunaq Pharma Limited |
Pregtaer (เพร็กแทร์) | Shreeyam Health Care |
Ristore (ริสโทร์) | East West Pharma |
Ritodine (ริโทดีน) | Troikaa Parenterals Pvt. Ltd. |
Ritolan (ริโทแลน) | Juggat Pharma |
Ritopar UR (ริโทพาร์ ยูอาร์) | Mercury Laboratories Ltd. |
Ritrod (ริทรอด) | Neon Laboratories Ltd. |
Tocopar (โทโคพาร์) | Dewcare Concept |
Utdrine (อัทดรีน) | Mediwin Pharmaceuticals |
Utgard (อัทการ์ด) | Ind-Swift Limited |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Beta2-adrenergic_agonist [2022,Aug20]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Ritodrine [2022,Aug20]
- https://www.drugs.com/cons/ritodrine-oral-intravenous.html [2022,Aug20]
- https://www.medindia.net/doctors/drug_information/ritodrine.htm [2022,Aug20]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/ritodrine?mtype=generic [2022,Aug20]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/ritodrine-index.html?filter=3&generic_only= [2022,Aug20]
- https://www.medindia.net/drug-price/ritodrine.htm [2022,Aug20]