เพนนิซิลลามีน (Penicillamine)
- โดย ภก.ศิวัสว์ ผุลลาภิวัฒน์
- 25 สิงหาคม 2558
- Tweet
- บทนำ
- ยาเพนิซิลลามีนมีสรรพคุณอย่างไร?
- ยาเพนิซิลลามีนออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาเพนิซิลลามีนมีรูปแบบจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาเพนิซิลลามีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาเพนิซิลลามีนมีผลไม่พึงประสงค์ไหม?
- ยาเพนิซิลลามีนมีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นไหม??
- มีข้อควรระวังในการใช้ยาเพนิซิลลามีนอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาเพนิซิลลามีนอย่างไร?
- ยาเพนิซิลลามีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคภูมิต้านตนเอง โรคออโตอิมมูน (Autoimmune disease)
- โรคข้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis)
- โลหะหนัก (Heavy metal)
- โรคข้อ (Joint disease)
บทนำ
ยาเพนิซิลลามีน (Penicillamine) จัดเป็นยาที่มีคุณสมบัติเป็นสารคีเลต (Chelate) ซึ่งคือ สารที่มีคุณสมบัติในการจับกับสารจำพวกมีประจุบวก/โลหะหนักเช่น ธาตุเหล็ก ทองแดง สังกะสี ปรอท เป็นต้น โดยเป็นสารเมธาบอไลต์ (Metabolite, สารที่เกิดจากปฏิกิริยาทางชีวเคมี) ของยาเพนิซิลลิน (Penicillin) อย่างไรก็ดีพบว่า มีการแพ้ยาข้ามระหว่างยาต่ำ (หมายถึง ผู้ที่แพ้ยาเพนิ ซิลลินอาจจะไม่แพ้ยาเพนิซิลลามีน และในทางกลับกัน ผู้ที่แพ้ยาเพนิซิลลามีนอาจจะไม่แพ้ยาเพนิซิลลิน) กล่าวคือ ผู้ที่แพ้ยาเพนิซิลลินยังสามารถใช้ยานี้ได้
ยาเพนิซิลลามีนยังมีความสามารถในการกดภูมิคุ้มกันต้านทานโรค (สารภูมิคุ้มกันฯ) จึงมีการนำมาใช้รักษาโรคข้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis) อีกด้วย องค์การอนามัยโลกได้จัดให้ยาเพนิซิลลามีนเป็นยาจำเป็น (Essential Medicines) ที่ควรมีไว้ในระบบสาธารณสุข ในประเทศไทยยาเพนิซิลลามีนจัดเป็นยาอันตราย อย่างไรก็ดีก่อนการใช้ยานี้ควรได้รับการวินิจฉัยและได้รับการเฝ้าติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่องจากแพทย์ผู้รักษา
ยาเพนิซิลลามีนมีสรรพคุณอย่างไร?
ยาเพนิซิลลามีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ดังต่อไปนี้
ก. โรควิลสันส์ (Wilson’s Disease): เป็นโรคทางพันธุกรรมที่พบน้อยที่ร่างกายมีความผิดปกติในการเมทาบอไลต์/Metabolite/ปฏิกิริยาทางชีวเคมีกับสารประกอบจำพวกทองแดง (Copper) ทำให้เกิดการสะสมของทองแดงในเนื้อเยื่อส่วนต่างๆของร่างกายโดยเฉพาะส่งผลต่อการทำงานของระบบประสาทและการทำงานของตับ
ข. ภาวะพิษจากโลหะหนัก: ในผู้ป่วยที่ได้รับหรือมีระดับโลหะหนักเช่น ธาตุเหล็ก ทอง แดง ปรอท เป็นต้น ในเลือดสูง
ค. ภาวะปัสสาวะมีสารซิสตีน (Cystinuria): เป็นโรคทางพันธุกรรมที่พบน้อยที่ร่างกายเกิดความผิดปกติในการสร้างสารซิสทีน (Cystine กรดอะมิโนชนิดหนึ่ง) จึงเกิดเป็นก้อนนิ่วในไต นิ่วในท่อไต และนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
ง. โรคข้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis): โดยใช้เป็นยาเสริมการรักษาร่วมกับยาอื่น ในผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อรูมาตอยด์ขั้นรุนแรง โดยผู้ป่วยอาจได้รับการรักษาด้วยยาอื่นเช่น ยากลุ่ม ต้านอักเสบ/ยาแก้อักเสบชนิดเสตียรอยด์, ยากดภูมิคุ้มกันฯ (เช่น เมโธเทรเซต/Methotreaxate, ยาอะซาไธโอพรีน/Azathioprine) แล้วล้มเหลวหรืออาการไม่ดีขึ้น
ยาเพนิซิลลามีนออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาเพนิซิลลามีนมีคุณสมบัติการออกฤทธิ์หลากหลายแตกต่างกันไปตามข้อบ่งใช้ของยา ดังต่อไปนี้
ก. มีคุณสมบัติการจับกับธาตุโลหะหนักเช่น เหล็ก ทองแดง ปรอท และโลหะหนักอื่นๆ ได้สารประกอบละลายน้ำที่มีความคงตัว นำไปสู่การขับออกทางปัสสาวะจึงทำให้ลดระดับโลหะหนักในร่างกายได้ ด้วยความสามารถของยาเพนิซิลลามีนในข้อนี้ทำให้มีการนำมาใช้รักษาโรควิลสันเพื่อลดระดับทองแดงในร่างกายและรักษาผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากโลหะหนัก
ข. มีความสามารถในการกดภูมิคุ้มกันฯของร่างกายได้แก่ การลดการทำงานของสารภูมิ คุ้มกันฯ (Immunoglobulin) ของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดทีเซลล์ (T cell เซลล์เม็ดเลือดขาวที่เกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกันฯ) และลดรูมาตอยด์แฟกเตอร์ (Rheumatoid Factor ระดับภูมิคุ้มกันฯของร่างกายที่ต่อต้านเนื้อเยื่อของร่างกายเองที่ทำให้เกิดโรคข้อรูมาตอยด์) จึงมีการนำยานี้มาใช้ในการรักษาโรคข้อรูมาตอยด์
ค. มีความสามารถในการจับกับสารซิสทีส (Cystine) ได้สารประกอบที่มีคุณสมบัติละลาย น้ำทำให้มีการนำมาใช้รักษาผู้ป่วยที่มีภาวะปัสสาวะมีสารซิสตินสูง (Cystinuria) ที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคนิ่วในไต นิ่วในท่อไต และ/หรือนิ่วในกระเพาะปัสสาวะได้
ยาเพนิซิลลามีนมีรูปแบบจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเพนิซิลลามีนมีรูปแบบเภสัชภัณฑ์ที่จัดจำหน่ายเป็นยาเม็ดเคลือบฟิล์มขนาดความแรง 125 และ 250 มิลลิกรัมต่อเม็ด ในประเทศไทยมีเฉพาะขนาดความแรง 250 มิลลิกรัมต่อเม็ดที่อยู่ในทะเบียนยา
ยาเพนิซิลลามีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาเพนิซิลลามีนมีขนาดรับประทานแนะนำดังต่อไปนี้เช่น
ก. โรควิลสัน (Wilson’s Disease)
- ในผู้ใหญ่และเด็กอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป: แนะนำระดับยาเริ่มต้นที่ 1,500 - 2,000 มิลลิ กรัมต่อวันโดยแบ่งให้วันละ 2 - 3 ครั้ง โดยปรับระดับยาตามค่าของธาตุทองแดงที่ขับออกได้ทางปัสสาวะ ขนาดยาที่ทำให้ค่าธาตุทองแดงในการขับออกทางปัสสาวะได้มากกว่า 2 มิลลิ กรัมต่อวันเป็นขนาดยาที่ผู้ป่วยควรได้รับยาอย่างต่อเนื่องประมาณ 3 เดือน แพทย์อาจลดระดับยาเป็นวันละ 750 - 1,000 มิลลิกรัมต่อวันหากสามารถควบคุมโรคได้ (ค่าธาตุทองแดงในกระ แสเลือดต่ำกว่า 10 ไมโครกรัมต่อลิตร) ผู้ป่วยไม่ควรได้รับยานี้ขนาดมากกว่า 2,000 มิลลิกรัมต่อวันอย่างต่อเนื่องเกินหนึ่งปี
- ในผู้ป่วยเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีและผู้สูงอายุ: ควรให้ระดับยาขนาด 20 มิลลิกรัมต่อน้ำ หนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวันโดยแบ่งให้วันละ 2 - 3 ครั้ง และให้ปรับระดับยาตามค่าการขับธาตุทองแดงออกทางปัสสาวะและระดับธาตุทองแดง
ข. ภาวะพิษจากปรอท (Lead Toxicity):
- ในผู้ใหญ่: แนะนำระดับยาขนาด 1,000 - 1,500 มิลลิกรัมต่อวันโดยแบ่งให้วันละ 2 - 3 ครั้งจนกว่าระดับปรอทในปัสสาวะคงที่หรือต่ำกว่า 0.5 มิลลิกรัมต่อวัน
- ในผู้สูงอายุ: แนะนำระดับยา 20 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวันจนกว่าระดับปรอทในปัสสาวะคงที่หรือต่ำกว่า 0.5 มิลลิกรัมต่อ
- ในผู้ป่วยเด็ก: แนะนำระดับยาขนาด 15 - 20 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน โดยแบ่งให้วันละ 2 - 3 ครั้ง แนะนำให้ใช้ยานี้ต่อเมื่อระดับสารปรอทในกระแสเลือดสูงกว่า 45 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร
ค. ภาวะปัสสาวะมีซิสติน (Cystinuria):
- ในผู้ใหญ่:
- ระดับยาเพื่อละลายนิ่วซิสทีน: แนะนำขนาดยา 1,000 - 3,000 มิลลิกรัมต่อวัน โดยแบ่งให้วันละ 2 - 3 ครั้ง ระดับสารซิสทีนในปัสสาวะควรอยู่ในช่วงไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อลิตร
- ระดับยาเพื่อป้องกันการเกิดนิ่วซิสทีน: แนะนำขนาดยา 500 - 1,000 มิลลิกรัม โดยแบ่งให้วันละ 2 - 3 ครั้งร่วมกับการดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารเหลว (เช่น แกงจืด) รวมแล้วไม่น้อยกว่า 3 ลิตรต่อวัน ระดับสารซิสทีนในปัสสาวะควรอยู่ในช่วงไม่เกิน 300 มิลลิกรัมต่อลิตร (ในผู้สูงอายุควรอยู่ในช่วงไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อลิตร)
- ในผู้ป่วยเด็ก: แนะนำขนาดยา 20 - 30 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวันโดยแบ่ง ให้วันละ 2 - 3 ครั้ง ปรับระดับยาให้ระดับสารซิสทีนในปัสสาวะอยู่ในช่วงไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อลิตร
ง. โรคข้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis):
- ในผู้ใหญ่: ขนาดยาเริ่มต้นที่แนะนำในช่วง 1 เดือนแรกของการรักษาคือ รับประทานวันละ 100 - 250 มิลลิกรัมต่อวัน หลังจากนั้นให้ปรับระดับยาทุกๆ 4 - 12 สัปดาห์จนกว่าผู้ป่วยจะมีอา การดีขึ้น ระดับยาเพื่อควบคุมอาการโดยทั่วไปอยู่ที่ 500 - 750 มิลลิกรัมต่อวัน (สูงสุด 1,500 มิล ลิกรัมต่อวัน) หากยังสามารถควบคุมอาการได้ดีในช่วงระยะเวลา 6 เดือนอาจพิจารณาลดขนาดยาเหลือวันละ 125 - 250 มิลลิกรัมต่อวันโดยปรับระดับยาทุกๆ 4 - 12 สัปดาห์ อย่างไรก็ดีหากอาการของผู้ป่วยไม่ทุเลาลงหลังจากได้รับยาไปแล้ว 12 เดือนอาจพิจารณาหยุดใช้ยานี้
- ในผู้สูงอายุ: แนะนำขนาดยาเริ่มต้นไม่เกินวันละ 125 มิลลิกรัมต่อวันในช่วงเดือนแรก และให้ปรับระดับยาเพิ่มขึ้นทุกๆ 4 - 12 สัปดาห์จนกว่าจะได้ระดับยาที่ต่ำที่สุดที่สามารถควบคุมอาการได้ ขนาดยาสูงสุดต่อวันไม่ควรได้รับเกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน
- ในผู้ป่วยเด็ก: แนะนำขนาดยาเริ่มต้นที่วันละ 2.5 - 5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยปรับระดับยาทุกๆ 4 สัปดาห์ในช่วงการรักษา 3 - 6 เดือน ขนาดยาเพื่อควบคุมอาการโดย ทั่วไปคือวันละ 15 - 20 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
*อนึ่ง
อาหารอาจทำให้การดูดซึมยาเพนิซิลลามีนลดลงจึงควรรับประทานยานี้ขณะท้องว่างคือก่อนอาหารประมาณ 1 ชั่วโมงหรือหลังอาหารประมาณ 2 ชั่วโมง และให้ทานยานี้ห่างจากยาอื่นๆอย่างน้อยประมาณ 1 ชั่วโมงรวมถึงยาเสริมธาตุเหล็ก แคลเซียม ผลิตภัณฑ์ยาลดกรด และนม
*****หมายเหตุ:
ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาเพนิซิลลามีนควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรเช่น
- ประวัติการแพ้ยา แพ้สารเคมี และแพ้อาหารทุกชนิด
- ประวัติโรคประจำตัว ยาอื่นที่ใช้อยู่ทั้งยาที่แพทย์สั่งจ่ายและยาที่ซื้อทานเองรวมไปถึงวิตามิน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและสมุนไพร โดยเฉพาะประวัติโรคไต โรคเกี่ยวกับภูมิ คุ้มกันฯเช่น โรคออโตอิมมูน โรคข้อรูมาตอยด์ (รวมถึงยาที่เคยใช้หรือกำลังใช้อยู่) หรือผู้ป่วยที่ใช้ยาดิจอกซิน (Digoxin) ยารักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ, ยากลุ่มต้านอักเสบ/ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่เสตียรอยด์ (Non-steroidal anti-inflammatory Drugs, NSAIDs) และยาลดกรดร่วมอยู่ด้วย
- แจ้งให้แพทย์ทราบหากคุณตั้งครรภ์ วางแผนที่จะตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาเพนิซิลลามีนให้รับประทานโดยทันทีที่นึกขึ้นได้ หากใกล้เวลาการรับประทานยาในมื้อถัดไปให้ข้ามมื้อยานั้นไปและรับประทานยาตามมื้อยาถัดไปตามปกติ โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า
ยาเพนิซิลลามีนมีผลไม่พึงประสงค์ไหม?
ยาเพนิซิลลามีนอาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการไม่พึงประสงค์) บางประการเช่น ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน สูญเสียการรับรสชาติอาหาร ท้องเสีย หากอาการเหล่านี้เกิดขึ้นและมีแนวโน้มว่าอาการแย่ลงหรือไม่ทุเลา ให้ไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด
หากรับประทานยาเพนิซิลลามีนแล้วเกิดอาการแพ้ยาเช่น ผื่นคัน อาการบวมของริมฝีปาก เปลือกตา/หนังตา ใบหน้า หรือหายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก หรืออาการข้างเคียงที่มีความรุนแรง มีอาการเหมือนติดเชื้อบ่อย (เช่น เจ็บคอ มีแผลในปาก มีไข้ หนาวสั่น เป็นต้น) มีห้อเลือดขึ้นง่าย หรือเลือดไหลหยุดยาก เหนื่อยง่าย หายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก ปัสสาวะมีเลือดปน (ปัสสาวะเป็นเลือด) เหนื่อยล้าอย่างรุนแรง การมองเห็นภาพเปลี่ยนไป (เช่น การเห็นภาพไม่ชัดเจน) หรือมีการห้อยย้อยของเปลือกตา/หนังตา/หนังตาตก มีอาการวิงเวียนรุนแรง ให้พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉิน
อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยควรตระหนักว่า การที่แพทย์สั่งใช้ยานี้เนื่องจากแพทย์พิจารณาแล้วเห็น ว่ายานี้จะมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยมากกว่าโทษหรือมากกว่าการได้รับผลข้างเคียงจากยา ผู้ป่วยที่ได้รับยานี้ส่วนมากพบว่าเกิดอาการไม่พึงประสงค์ชนิดรุนแรง ผู้ป่วยจึงควรเฝ้าระวังผลข้างเคียงดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้นและแจ้งให้แพทย์ผู้ทำการรักษาทราบ/ไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดหรือทันทีขึ้นกับความรุนแรงของอาการ หากเกิดอาการรุนแรงดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น
ยาเพนิซิลลามีนมีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นไหม?
ยาเพนิซิลลามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆดังนี้
ก. ยาเสริมธาตุเหล็ก (เช่น Ferrous sulfate) ยาดิจอกซิน (Digoxin) และยาลดกรด: เนื่องจากยาในกลุ่มนี้อาจจับกับยาเพนิซิลลามีนในระบบทางเดินอาหารทำให้ร่างกายดูดซึมยาเพนิซิลลามีนได้ลดลง หากจำเป็นต้องให้ร่วมกันให้บริหารยา/ใช้ยาทั้งสองชนิดห่างกันอย่างน้อย 3 ชั่วโมง
ข. ยากลุ่มต้านอักเสบ/ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่เสตียรอยด์ (Non-steroidal anti-inflamma tory Drugs, NSAIDs) หรือยาอื่นๆที่มีฤทธิ์เป็นพิษต่อไต: หากให้ยาเหล่านี้ร่วมกับยาเพนิซิลลามีนจะเพิ่มความเสี่ยงการทำลายไต
ค. ไพริดอกซีน (Pyridoxine) หรือวิตามินบี 6 (Vitamin B6):แพทย์อาจพิจารณาให้วิตามินบี 6 ร่วมด้วยขณะที่ผู้ป่วยใช้ยาเพนิซิลลามีนเนื่องจากยาเพนิซิลลามีนอาจทำให้ระดับวิตามินบี 6 ในร่างกายลดลง
มีข้อควรระวังในการใช้ยาเพนิซิลลามีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังในการใช้ยาเพนิซิลลามีนเช่น
- ไม่ใช้ยานี้กับผู้ที่แพ้ยาหรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
- แพทย์มักมีการตรวจเลือดซีบีซี/CBC และการตรวจเลือดดูค่าความสามารถการทำ งานของไตก่อนเริ่มใช้ยานี้
- ในระหว่างการรักษาแพทย์มักมีการตรวจปัสสาวะและการตรวจเลือดผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอ
- แพทย์มักระงับการใช้ยานี้หากค่าเกล็ดเลือดต่ำกว่า 120,000 ต่อมิลลิลิตรหรือค่าเม็ดเลือดขาวต่ำกว่า 2,500 ต่อมิลลิลิตร โดยอาจพิจารณาให้ยาใหม่อีกครั้งเมื่อทั้ง 2 ค่านี้อยู่ในช่วงค่าปกติโดยอาจให้เริ่มใช้ยาใหม่ในขนาดที่ต่ำกว่าเดิม
- ระมัดระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคไต
- หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับยาในกลุ่มต้านอักเสบ/ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่เสตียรอยด์ (Non-steroidal anti-inflammatory Drugs, NSAIDs) หรือยาอื่นที่อาจก่อให้เกิดพิษต่อไต เนื่องจากอาจเพิ่มความเสี่ยงการทำลายเนื้อเยื่อไต
- เฝ้าระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่เคยมีประวัติได้รับอาการไม่พึงประสงค์จากสารที่มีทองคำเป็นส่วนประกอบเช่น ยาออเรนโอฟิน
- หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง:
ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาเพนิซิลลามีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ควรเก็บรักษายาเพนิซิลลามีนอย่างไร?
ควรเก็บรักษายาเพนิซิลลามีนดังนี้เช่น
- เก็บในภาชนะบรรจุหรือบรรจุภัณฑ์ดั้งเดิมของผู้ผลิต
- เก็บในอุณหภูมิห้องปกติ ควรหลีกเลี่ยงที่อับชื้นเช่น บริเวณใกล้ห้องน้ำ ห้องครัว หรือบริเวณที่มีแสงแดดส่องถึงโดยตรง
- เก็บให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาในรถยนต์
ยาเพนิซิลลามีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเพนิซิลลามีนที่มีจำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิตดังต่อไปนี้
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
องค์การเภสัชกรรม | |
เพนิซิลลามีน จีพีโอ (Penicillamine GPO) | องค์การเภสัชกรรม |
บรรณานุกรม
- Amanda H. Corbett, Susan Cornell, Marilyn Cortell, et al. Drug Information Handbook with International Trade Names, Penicillamine. 23; 2014:1621-23.
- Arthritis Health Center: Rheumatoid Factor (RF). http://www.webmd.com/arthritis/rheumatoid-factor-rf [2015,Aug8]
- Ala A, Walker AP, Ashkan K, Dooley JS, Schilsky ML. Wilson's disease. Lancet 2007; 369 (9559): 397–408.
- Biyani CS, Cartledge JJ. Cystinuria—Diagnosis and Management. 2006; EAU-EBU Update Series 4 (5): 175–83.
- Omudhome Ogbru, Jay W.M., Charles P.D. Penicillamine, Cuprimine, Depen. http://www.medicinenet.com/penicillamine/article.html [2015,Aug8]
- D-Penicillamine. National Center for Biotechnology Information, Pubchem. http://pubchem.ncbi.nlm.nih.gov/compound/D-Penicillamine#section=Top [2015,Aug8]
- Distamine 250mg Film-coated tablets, SPC. Alliance Pharmaceuticals. Jan, 14.
- สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. http://wwwapp1.fda.moph.go.th/consumer/conframe.asp [2015,Aug8]