logo

คำถามจาก วิกิโรค

Home / FAQ โรค/ หัด (Measles)

คำถามเกี่ยวกับโรค

โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล

เรื่อง : หัด (Measles)

โรคหัด (Measles / Rubeola) เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชื่อ มอร์บิลลิไวรัส (Morbillivirus) โดยการ ไอ จาม หรือพูดกันในระยะใกล้ชิด เชื้อไวรัสจะกระจายอยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย และเข้าสู่ร่างกายทางการหายใจ บางครั้งเชื้ออยู่ในอากาศ เมื่อหายใจเอาละอองที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสเข้าไปก็ทำให้เป็นโรคได้ ซึ่งผู้ติดเชื้อจะเกิดโรคเกือบทุกราย โดยคนที่เคยติดเชื้อมาแล้วจะมีภูมิคุ้มกันไปตลอดชีวิต และโรคนี้มีวัคซีนป้องกันที่มีประสิทธิภาพสูงเกือบ 100%

อาการของโรคหัดแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือระยะก่อนออกผื่นและระยะที่เป็นผื่น

  • ระยะก่อนออกผื่น เริ่มต้นด้วยมีไข้สูง ต่อมามีน้ำมูกไหล ไอ เจ็บคอ ตาแดง หรือตาแฉะ (3 อาการหลัก) อาการอื่นๆ คือ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ซึ่งอาการต่างๆ เหล่านี้จะเป็นอยู่ประ มาณ 2-4 วัน ก่อนที่จะออกผื่น 1-2 วัน ถ้าสังเกตุให้ดี จะเห็นจุดขาวๆ เล็กๆ เหมือนเกลือป่น มีขอบสีแดง อยู่ภายในกระพุ้งแก้ม ส่วนบริเวณติดฟันกราม ซึ่งเรียกว่า ตุ่มโคปลิค (Koplik spots ) เป็นลักษณะเฉพาะของโรคหัด ซึ่งจะไม่พบในโรคติดเชื้ออื่นๆ เลย และเมื่อผื่นขึ้นแล้ว จุดเหล่านี้จะหายไป
  • ระยะออกผื่น จะเริ่มขึ้นบริเวณใบหน้าชิดขอบผม หลังใบหู ก่อนที่จะกระจายไปตามลำตัว แขนขา ลักษณะผื่นเป็นแบบนูนแดง อาจติดกันเป็นปื้นๆ ใหญ่ เป็นผื่นแบบไม่คัน เมื่อผื่นขึ้นมาประมาณ 2-3 วัน ไข้ก็จะเริ่มลดลง ผื่นในระยะแรกมีสีแดง ต่อมามีสีเข้มขึ้นเป็นสีแดงคล้ำหรือน้ำตาลแดง ซึ่งคงอยู่นาน 5-6 วัน กว่าจะจางหายไปหมด กินเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ บางครั้งจะพบผิวหนังลอกเป็นขุยได้

ผู้ป่วยหัดจะมีเชื้อไวรัสในลำคอและแพร่เชื้อได้ในระยะจาก 1-2 วัน ก่อนที่จะเริ่มมีอาการ (3 ถึง 5 วันก่อนผื่นขึ้น) ไปถึงระยะหลังผื่นขึ้นแล้วประมาณ 4 วัน

  • ระบบทางเดินหายใจ (พบได้บ่อย) เช่น หูส่วนกลางอักเสบ (พบบ่อยสุดในเด็กเล็ก) กล่องเสียงอักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ (มักพบในผู้ใหญ่) อาจทำให้วัณโรคที่เป็นอยู่กำเริบขึ้นมาได้
  • ระบบทางเดินอาหาร พบอุจจาระร่วงจากลำไส้อักเสบได้บ่อย ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะทุพโภชนาการ ส่วนในระบบอื่นๆ ของทางเดินอาหาร เช่น ตับอักเสบ ไส้ติ่งอักเสบ ต่อมน้ำเหลืองในช่องท้องอักเสบ
  • ระบบประสาท เช่น สมองอักเสบ ภาวะเนื้อสมองอักเสบ ทำให้เป็นโรคลมชักและสติปัญญาด้อยลง
  • ในเด็กที่มีภาวะขาดวิตามินเอ อาการจะรุนแรงและอาจทำให้ตาบอด

หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วย โดยแยกผู้ป่วยที่สงสัยเป็นหัดจนถึงประมาณ 4 วันหลังผื่นขึ้น แต่ทั้งนี้วิธีที่ดีที่สุด คือ ฉีดวัคซีนป้องกัน ซึ่งปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อเด็กอายุ 9-12 เดือน และครั้งที่ 2 เมื่อเด็กเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1

เกิดจากเชื้อไวรัสคนละตัว โดยโรคหัด (Measles / Rubeola) เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชื่อ มอร์บิลลิไวรัส (Morbillivirus) ส่วนโรคหัดเยอรมัน (German measles / Rubella) เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชื่อ รูบิไวรัส (Rubivirus)

โรคหัดเยอรมันหรือเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า “เหือด” ติดต่อกันง่ายแต่น้อยกว่าโรคหัด เป็นโรคติดเชื้อที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีอาการ ถ้ามีอาการจะมีไข้และออกผื่นคล้ายหัด แต่มีความรุนแรงน้อยกว่าหัด และมักจะหายได้เองโดยไม่มีโรคแทรกซ้อน แต่ที่สำคัญคือ ถ้าเกิดการติดเชื้อโรคหัดเยอรมันในหญิงตั้งครรภ์ เชื้ออาจแพร่กระจายเข้าทารกในครรภ์ ทำให้เกิดการพิการได้