logo

คำถามจาก วิกิยา

Home / FAQ ยา/ ยาทากันยุง

คำถามเกี่ยวกับยา

โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล

เรื่อง : ยาทากันยุง

ยาทากันยุง (Mosquito Repellents) ในที่นี้รวมถึงยาที่อยู่ในรูปแบบของเหลว โลชั่น ครีม เจล สเปรย์ ลูกกลิ้ง แป้ง ผ้าเปียก ทิชชูเปียก หมายถึง ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติในการป้องกันไม่ให้ยุงกัดแต่ไม่มีฤทธิ์ในการฆ่ายุง จึงมีความปลอดภัยสามารถนำมาทาบริเวณผิวหนังหรือเสื้อผ้าได้

  1. ห้ามใช้ยาทากันยุงบริเวณผิวหนังในร่มผ้า (ส่วนของร่างกายในผ้านุ่งที่ไม่ควรเปิดเผย เช่น อวัยวะเพศ) แต่ควรใช้สเปรย์ฉีดพ่นบริเวณเสื้อผ้า รองเท้า หมวก หรือมุ้ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันยุง
  2. ห้ามใช้ยาทากันยุงบริเวณผิวหนังที่มีบาดแผล มีอาการระคายเคือง หรือผิวไหม้จากแสงแดด
  3. หากใช้ยาทากันยุงรูปแบบสเปรย์ ห้ามใช้ฉีดพ่นบริเวณใบหน้าโดยตรง ควรฉีดลงบนฝ่ามือแล้วค่อยๆ ทาให้ทั่วใบหน้ารวมถึงรอบใบหู ยกเว้นบริเวณรอบตาและริมฝีปาก
  4. ควรใช้ยาทากันยุงเมื่อจำเป็นเท่านั้น ห้ามใช้ติดต่อกันเป็นประจำหรือใช้ในปริมาณมาก
  1. ควรอ่านคำแนะนำบนฉลาก/ฉลากยา/ฉลากผลิตภัณฑ์ และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ใช้ยากันยุงได้อย่างมีประสิทธิภาพ และป้องกันการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยา เพราะยาทากันยุงแต่ละชนิดมีปริมาณที่ต้องใช้และมีช่วงเวลาที่ออกฤทธิ์แตกต่างกัน
  2. ก่อนใช้ควรลองทายากันยุงบริเวณข้อพับแขนดูก่อน หากไม่เกิดอาการแพ้หรือระคายเคือง จึงใช้กับผิวหนังบริเวณอื่นได้
  3. หลังจากการใช้ยาทากันยุง ควรล้างมือให้สะอาดก่อนหยิบจับอาหาร
  4. หากยาทากันยุงเข้าตา ให้รีบล้างออกด้วยน้ำสะอาดปริมาณมาก จนกว่าอาการระคายเคืองตาจะทุเลา ถ้าอาการไม่ทุเลา ควรรีบไปโรงพยาบาล
  5. หากต้องใช้ยาทากันยุงร่วมกับครีมกันแดด ให้ทาครีมกันแดดก่อน และอาจต้องทาครีมกันแดดซ้ำบ่อยขึ้น เพราะยาทากันยุงอาจทำให้ประสิทธิภาพการกันแดดลดลง
  6. ประสิทธิภาพของยาทากันยุง อาจลดลงเมื่อผู้ใช้มีเหงื่อออกมาก อยู่ในบริเวณที่มีลมแรง หรือถูกชะล้างด้วยน้ำ
  7. เมื่อกลับสู่เข้าพื้นที่ปลอดยุง ควรล้างผิวหนังบริเวณที่ทายากันยุงด้วยสบู่ และใช้มือถูให้สะอาด

ยาจุดกันยุง (Mosquito Coil) เป็นผลิตภัณฑ์ที่นิยมใช้ในบ้านเรือนเพราะมีราคาถูก มีวิธีใช้โดยการจุดไฟบริเวณหัวยาจุดกันยุงจนเกิดการเผาไหม้ หลังจากนั้นสารออกฤทธิ์จะระเหยออกมาพร้อมกับควัน โดยสารออกฤทธิ์ดังกล่าวค่อนข้างปลอดภัยในคน แต่มีคุณสมบัติในการไล่ยุงหรือฆ่ายุง หากยุงสัมผัสควันนี้ในปริมาณน้อยจะไม่บินเข้ามาใกล้ หากได้รับควันถึงปริมาณหนึ่งจะรบกวนการทำงานของระบบประสาท ทำให้ยุงเป็นอัมพาตแล้วตกลงมาหงายท้อง และหากได้รับควันปริมาณมากจะทำให้ยุงตายได้

  1. ห้ามจุดยาจุดกันยุงในห้องที่มีเด็กอ่อน หรือมีผู้ป่วย หรือในพื้นที่อับไม่มีอากาศถ่ายเท
  2. ห้ามให้ยาจุดกันยุงสัมผัสหรือรมถูกอาหาร หลังจากใช้ยาจุดกันยุงควรล้างมือให้สะอาดก่อนหยิบจับอาหาร
  3. ห้ามจุดยาจุดกันยุงใกล้วัสดุที่ติดไฟง่าย
  4. หลีกเลี่ยงการสูดดมควันจากยาจุดกันยุง เพราะอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ฯได้