logo

คำถามจาก วิกิยา

Home / FAQ ยา/ ยาลูกอม

คำถามเกี่ยวกับยา

โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล

เรื่อง : ยาลูกอม

ยาลูกอม ยาอม (Throat lozenge, Cachou cough drop, Cough sweet, Cough tablet, หรือ Troche) เป็นลูกกวาดบำบัด (Medicated sweet) สำหรับอมไว้ในปากให้ลูกอมละลายช้าๆ ในช่องปาก เพื่อหล่อลื่นเยื่อเมือกอันระคายเคืองในช่องปากและลำคอ ช่วยบรรเทาอาการระคายเคือง อาการไอ และอาการเจ็บคอ ซึ่งมักเป็นเพราะคอหอยอักเสบ (Pharyngitis) เนื่องจากโรคหวัดหรือมีไข้

ยาอมอาจเจือสารเบ็นโซเคน (Benzocaine) ซึ่งเป็นยาระงับความรู้สึก (Anesthetic) ประเภทหนึ่ง หรืออาจเป็นน้ำมันยูคาลิปตัสก็ได้ ในหลายๆ ขนานปรากฏว่ามี การบูร น้ำมันสะระแหน่ หรือสะระแหน่หอม เป็นตัวนำกลิ่น บ้างก็ใส่น้ำผึ้งด้วย

ส่วนยาอมที่ไม่ผสมการบูร มักใช้สารซิงก์กลูโคเนตไกรซีน (Zinc gluconate glycine) หรือไม่ก็เพกติน (Pectin) ปรุงเป็นยาบรรเทาอาการระคาย (Demulcent) อย่างไรก็ดี ยาอมหลายๆ ยี่ห้อในท้องตลาดมักประกอบด้วย ยาเด็กซ์ทรอเมโทเฟน (Dextrometrophan: ยาระงับอาการไอ)

ยาอมนั้นควรบริโภคแต่พอประมาณ เพราะส่วนประกอบบางชนิดหากรับประทานมากจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัย

อนึ่ง ยาอมบางประเภทที่มีสรรพคุณต่อต้านแบคทีเรีย ก็ช่วยให้ลมหายใจสดชื่น และขจัดแบคทีเรียที่ทำให้กลิ่นปากเน่าเหม็นด้วย

  1. ยาอมให้ความชุ่มชื้น หรือ แก้ไอ ปกติจะอมครั้งละ 1-2 เม็ด วันละ 3-4 ครั้ง หรือเวลาไอ ในกรณีที่ยาอมนั้นมีส่วนผสมของยาแก้ไอเด็ทซ์ทรอเมโทรฟาน แต่ถ้าเป็นยาอมสมุนไพรมักไม่มีข้อจำกัดว่าห้ามอมไม่เกินวันละเท่าไร
  2. ถ้าเป็นยาอมที่มีส่วนผสมของรสมิ้นต์หรือรสเมนทอล ก็สามารถอมได้โดยไม่มีข้อจำกัดในปริมาณที่ใช้อม
  3. ยาอมฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ปกติจะอมตามที่ระบุไว้ในฉลากยา วันละ 3-4 ครั้ง มักไม่เกินวันละ 8 เม็ด เช่น ยาอมมายบาซิน
  4. ยาอมเฉพาะโรคต่างๆ จะอมตามที่ระบุไว้ในฉลากยา โดยห้ามใช้ยาในขนาดที่มากหรือน้อยกว่าที่ระบุในฉลาก ควรอมให้ตรงเวลาตามที่กำหนด เช่น เมื่อมีการติดเชื้อราในช่องปาก
  5. ในคนเป็นเบาหวาน ปกติน้ำตาลที่มีอยู่ในลูกอมจะมีปริมาณไม่มากจนเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยเบาหวานถ้าอมตามที่ระบุไว้ ซึ่งปกติคนเป็นเบาหวานควรพกลูกอมติดตัว เพื่อใช้ในกรณีเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
  • ในเด็กยาอมที่มีส่วนผสมของสะระแหน่ อาจทำให้รู้สึกระคายเคืองเยื่อบุทางเดินอาหาร และทางเดินหายใจได้
  • ส่วนหญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร ไม่มีข้อห้ามในการใช้ยาอมมีส่วนผสมของสะระแหน่
  • ข้อควรระวังข้างต้นใช้กับยาอมทั่วไป ถ้าเป็นยาอมที่มีส่วนผสมของยาเฉพาะกลุ่ม อาจต้องพิจารณาเป็นรายๆ เช่น ยาอมแก้เชื้อรา (Clotrimazole) ที่ใช้สำหรับรักษาโรคเชื้อราในช่องปาก (Thrush infection) ซึ่งมีวิธีใช้ยาดังนี้
    • ยานี้ใช้อมให้ละลายในปาก หรือให้ใช้ยานี้ตามวิธีใช้ที่ระบุบนฉลากยา โดยห้ามใช้ยาในขนาดที่มากหรือน้อยกว่าที่ระบุ และหากมีข้อสงสัยให้สอบถามแพทย์หรือเภสัชกร
    • ควรอมยานี้ให้ตรงเวลาทุกครั้ง
    • ห้ามหยุดใช้ยาด้วยตัวเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ผู้รักษาก่อน
    • อมยาทั้งเม็ด ห้ามเคี้ยว หรือกลืนยานี้
    • หากอาการติดเชื้อราในช่องปากไม่ดีขึ้นภายใน 3-7 วันหลังจากใช้ยา ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ