ความดันโลหิตต่ำเมื่อลุกยืน (Orthostatic hypotension) - Update

สารบัญ

  • เกริ่นนำ
  • กายวิภาคและสรีรวิทยา
  • อาการและอาการแสดง
    • โรคที่เกี่ยวข้อง
  • สาเหตุ
    • การใช้ยา
    • ปัจจัยอื่นๆ
  • กลไกการเกิดโรค
  • การวินิจฉัย
    • คำนิยาม
    • ประเภทย่อย
  • การรักษา
    • การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
    • การใช้ยา
    • อื่นๆ
  • พยากรณ์โรค

เกริ่นนำ (Introduction)

ความดันโลหิตต่ำ (Hypotension) เมื่อลุกยืน (Orthostasis) หรือเมื่อนั่งลง เป็นภาวะทางการแพทย์ที่ความดันโลหิตของบุคคลลดลงเมื่อเปลี่ยนอิริยาบถ (Postural orthostatic hypotension) สำหรับชนิดปฐมภูมิ (Primary) มักเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Neurogenic orthostatic hypotension การลดลงของความดันโลหิตนี้อาจเกิดขึ้นทันที (Vasovagal), ภายใน 3 นาที (Classic), หรือค่อยๆ ลดลงแบบช้าๆ (Delayed)

 

โดยทั่วไป ภาวะนี้ถูกกำหนดว่าเป็นการลดลงของความดันโลหิตซิสโตลิก (Systolic blood pressure) อย่างน้อย 20 มม.ปรอท หรือความดันโลหิตไดแอสโตลิก (Diastolic blood pressure) อย่างน้อย 10 มม.ปรอท หลังจากยืนเป็นเวลา 3 นาที 

ภาวะนี้มักเกิดจากการที่หลอดเลือดบริเวณส่วนล่างของร่างกายหดตัวช้ากว่าปกติ หรือไม่หดตัวเลย ซึ่งกระบวนการนี้ปกติแล้วจำเป็นในการรักษาความดันโลหิตให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมเมื่อเปลี่ยนเป็นท่ายืน 

เมื่อการหดตัวของหลอดเลือดไม่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เลือดจึงค้างอยู่ในหลอดเลือดบริเวณขาเป็นเวลานานขึ้น ทำให้เลือดที่ไหลกลับเข้าสู่หัวใจลดลง ส่งผลให้ปริมาณโลหิตที่หัวใจบีบออก (Cardiac output) ลดลง และทำให้การไหลเวียนของเลือดไปยังสมองไม่เพียงพอ 

ภาวะความดันโลหิตต่ำเมื่อเปลี่ยนอิริยาบถที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราวและมีอาการเพียงเล็กน้อยถือเป็นเรื่องปกติ และสามารถเกิดขึ้นชั่วคราวในทุกคน อย่างไรก็ตาม ภาวะนี้พบได้บ่อยในผู้สูงอายุและผู้ที่มีความดันโลหิตต่ำเป็นปกติ 

การลดลงของความดันโลหิตอย่างรุนแรงสามารถนำไปสู่อาการหมดสติ ซึ่งอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บได้  การลดลงของความดันโลหิตในระดับปานกลางสามารถทำให้เกิดอาการสับสน/สมาธิลดลง, ภาวะเพ้อ (Delirium) และภาวะเสียการทรงตัวเป็นระยะๆ 

ภาวะความดันโลหิตต่ำเมื่อเปลี่ยนอิริยาบถแบบเรื้อรังเกี่ยวข้องกับภาวะเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ (Cerebral hypoperfusion) ซึ่งอาจเร่งให้เกิดกระบวนการทางพยาธิสรีรวิทยาที่นำไปสู่ภาวะสมองเสื่อม อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าภาวะนี้เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดภาวะสมองเสื่อมหรือไม่ 

ภาวะความดันโลหิตต่ำเมื่อเปลี่ยนอิริยาบถสามารถเกิดจากหลายสาเหตุ รวมถึงการใช้ยาบางชนิด (เช่น ยาปิดตัวรับอัลฟา Alpha blockers), ความผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติ (Autonomic neuropathy), ปริมาณเลือดลดลง, โรคกล้ามเนื้อหลายระบบฝ่อ (Multiple system atrophy), และความแข็งตัวของหลอดเลือดที่เกิดจากอายุ 

นอกจากการรักษาสาเหตุพื้นฐานแล้ว ภาวะความดันโลหิตต่ำเมื่อเปลี่ยนอิริยาบถสามารถรักษาได้โดยการแนะนำให้เพิ่มปริมาณการบริโภคเกลือและน้ำ (เพื่อเพิ่มปริมาตรเลือด), การสวมถุงน่องรัดกระชับ (Compression stockings), และในบางกรณีอาจใช้ยา เช่น Fludrocortisone, Midodrine, หรือยาอื่นๆ 

การเพิ่มปริมาณเกลืออย่างมาก (Salt loading) ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ เนื่องจากหากทำอย่างหักโหมอาจก่อให้เกิดปัญหาทางระบบประสาทที่รุนแรงได้ 

กายวิภาคและสรีรวิทยา (Anatomy and physiology)

เพื่อรักษาความดันโลหิตให้อยู่ในระดับที่เพียงพอ ร่างกายมีหลายกลไกชดเชย โดยเฉพาะตัวรับความดันโลหิต (Baroreceptors) ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มตัวรับแรงกล มีบทบาทสำคัญในการส่งข้อมูลเกี่ยวกับความดันโลหิตไปยังระบบประสาทอัตโนมัติ ข้อมูลนี้ถูกใช้ในการควบคุมแรงต้านของหลอดเลือดส่วนปลายและปริมาณเลือดที่หัวใจสูบฉีด เพื่อให้ความดันโลหิตอยู่ในช่วงปกติที่กำหนดไว้  ตัวรับความดันโลหิต แบ่งออกเป็นสองประเภท ได้แก่  ตัวรับความดันโลหิตแรงดันสูงในหลอดเลือดแดงและตัวรับความดันโลหิตปริมาตรแรงดันต่ำ  ทั้งสองถูกกระตุ้นจากการยืดตัวของผนังหลอดเลือด โดยตัวรับความดันโลหิตในหลอดเลือดแดงพบได้ที่โพรงหลอดเลือดคาโรติด (Carotid sinuses) และส่วนโค้งของหลอดเลือดเอออร์ตา (Aortic arch) ขณะที่ตัวรับความดันโลหิตปริมาตรแรงดันต่ำ หรือที่เรียกว่า Cardiopulmonary receptors จะอยู่ในหัวใจห้องบน หัวใจห้องล่าง และระบบหลอดเลือดปอด 

ตัวรับความดันโลหิตแรงดันสูงในหลอดเลือดแดงทำหน้าที่ตรวจจับความเปลี่ยนแปลงของความดันโลหิต และส่งข้อมูลไปยังแกนเดี่ยวของก้านสมอง ซึ่งควบคุมการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ ส่งผลให้ความดันโลหิตลดลง พร้อมกับอัตราการเต้นของหัวใจที่เพิ่มขึ้น  นอกจากนี้ รีเฟล็กซ์แอกซอนเวโนอาร์เทริโอลาร์ (Veno-arteriolar axon reflex) ยังช่วยปรับสมดุลความดันโลหิตผ่านการบีบตัวของหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อ ผิวหนัง และเนื้อเยื่อไขมัน

อาการและอาการแสดง (Signs and symptoms)

ภาวะความดันโลหิตต่ำจากการเปลี่ยนอิริยาบถมีลักษณะเด่น คือ อาการที่เกิดขึ้นหลังจากลุกขึ้นยืนจากท่านอนหรือท่านั่ง โดยเฉพาะเมื่อทำอย่างรวดเร็ว หลายคนรายงานว่ามีอาการวิงเวียนศีรษะ (รู้สึกเหมือนจะเป็นลม) ซึ่งอาจรุนแรง หรือบางครั้งถึงขั้นหมดสติและเพิ่มความเสี่ยงต่อการหกล้ม 

ในกรณีที่เป็นภาวะความดันโลหิตต่ำจากการเปลี่ยนอิริยาบถเรื้อรัง อาการและผลกระทบอาจรุนแรงขึ้น แม้ว่าการเป็นลมและอาการอื่นๆ จะเกิดขึ้นน้อยลง นอกจากนี้ อาจพบอาการอ่อนแรงทั่วไปหรือรู้สึกเหนื่อยล้า  บางคนอาจมีอาการอื่นๆ เช่น  สมาธิไม่ดี, ตามัว, ตัวสั่น, เวียนศีรษะ, วิตกกังวล, ใจสั่น (รับรู้ถึงการเต้นของหัวใจ), เดินไม่มั่นคง, เหงื่อออกหรือรู้สึกเย็นชื้น, คลื่นไส้, ผิวซีด

ในบางกรณี ภาวะความดันโลหิตต่ำจากการเปลี่ยนอิริยาบถรุนแรง อาจแสดงออกเพียงแค่อาการสับสน หรืออ่อนเพลียอย่างรุนแรง  หากเป็น ภาวะความดันโลหิตต่ำจากการเปลี่ยนอิริยาบถเรื้อรังและรุนแรง อาจส่งผลให้เกิดความผิดปกติทางการรับรู้ เช่น ภาวะสติสัมปชัญญะแปรปรวน 

หญิงตั้งครรภ์ก็อาจมีความเสี่ยงต่อภาวะนี้เช่นกัน 

  • โรคที่เกี่ยวข้อง (Associated diseases)

ภาวะนี้อาจเกี่ยวข้องกับโรคและความผิดปกติหลายประเภท เช่น 

    • โรคแอดดิสัน
    • หลอดเลือดแดงแข็งตัว (Atherosclerosis - การสะสมของไขมันในหลอดเลือดแดง)
    • โรคเบาหวาน
    • เนื้องอกที่ต่อมหมวกไต (Pheochromocytoma)
    • โรคพอร์ไฟเรีย
    • ภาวะ Long COVID
    • โรคทางระบบประสาทบางชนิด เช่น โรคภูมิต้านตนเองที่ส่งผลต่อปมประสาทอัตโนมัติ, โรคระบบประสาทเสื่อมหลายระบบ (Multiple system atrophy: MSA) และรูปแบบอื่นๆ ของโรคดิสออโตโนเมีย (Dysautonomia)
    • โรคกลุ่มอาการหนังยืดผิดปกติ (Ehlers–Danlos syndrome) และภาวะเบื่ออาหารทางจิตเวช (Anorexia nervosa)

นอกจากนี้ยังพบในผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน หรือภาวะสมองเสื่อมจากกลุ่มโปรตีนที่สะสมผิดปกติในเซลล์ประสาทของสมอง (Lewy bodies dementias) ซึ่งเกิดจากการสูญเสียการควบคุมของระบบประสาทอัตโนมัติที่ส่งผลต่อหัวใจ หรือเป็นผลข้างเคียงของการใช้ยาที่กระตุ้นระบบโดปามีน 

อย่างไรก็ตาม ภาวะนี้มักไม่ค่อยทำให้เกิดอาการเป็นลม เว้นแต่ผู้ป่วยจะมีภาวะล้มเหลวของระบบประสาทอัตโนมัติอย่างแท้จริง หรือมีโรคหัวใจที่ไม่เกี่ยวข้องกัน 

อีกโรคหนึ่งคือภาวะพร่องเอนไซม์โดปามีนเบต้าไฮดรอกซีเลส (Dopamine β-hydroxylase deficiency) ซึ่งเชื่อว่าเป็นภาวะที่ยังได้รับการวินิจฉัยต่ำกว่าความเป็นจริง เป็นโรคที่ส่งผลให้สูญเสียการทำงานของระบบประสาทซิมพาเทติกที่ใช้สารสื่อประสาทนอร์อะดรีนาลีน โดยมีลักษณะเฉพาะคือพบระดับนอร์เอพิเนฟรีนในเลือดต่ำหรือแทบไม่พบเลย ขณะที่ระดับโดปามีนกลับสูงกว่าปกติ

ผู้ป่วยอัมพาตทั้งสี่แขนขา (Quadriplegia) และผู้ป่วยอัมพาตท่อนล่าง (Paraplegia) อาจมีอาการเหล่านี้ร่วมด้วย เนื่องจากความบกพร่องในการทำงานของหลายระบบภายในร่างกายในการควบคุมความดันโลหิตและการไหลเวียนเลือดไปยังส่วนบนของร่างกายอย่างเหมาะสม

สาเหตุ (Causes)

สาเหตุบางประการของภาวะความดันโลหิตต่ำขณะเปลี่ยนอิริยาบถ ได้แก่ โรคทางระบบประสาทเสื่อม ปริมาณเลือดต่ำ (เช่น จากภาวะขาดน้ำ การเสียเลือด หรือการใช้ยาขับปัสสาวะ) ยาที่มีฤทธิ์ขยายหลอดเลือด ยาประเภทอื่นๆ (โดยเฉพาะยาเสพติดและกัญชา) การหยุดใช้ยาที่มีฤทธิ์หดหลอดเลือด การนอนพักบนเตียงเป็นเวลานาน (ขาดการเคลื่อนไหว) น้ำหนักตัวที่ลดลงอย่างมากในระยะหลัง ภาวะโลหิตจาง การขาดวิตามินบี 12 หรือการผ่าตัดลดน้ำหนักในช่วงที่ผ่านมา

  • การใช้ยา (Medication)

ภาวะความดันโลหิตต่ำขณะเปลี่ยนอิริยาบถ อาจเกิดเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยาต้านอาการซึมเศร้าบางชนิด เช่น ยาไตรไซคลิก (Tricyclic antidepressants) หรือยาในกลุ่มโมโนเอมีนออกซิเดสอินฮิบิเตอร์ (Monoamine oxidase inhibitors: MAOIs) การดื่มแอลกอฮอล์อาจส่งเสริมให้เกิดภาวะดังกล่าวรุนแรงขึ้นจนถึงขั้นหมดสติได้ นอกจากนี้ ยากลุ่มอัลฟา-วัน บล็อกเกอร์ (Alpha-1 adrenergic blocking agents) ก็อาจทำให้เกิดภาวะนี้ได้เช่นกัน โดยยากลุ่มดังกล่าวจะยับยั้งกระบวนการหดตัวของหลอดเลือด ซึ่งปกติแล้วจะเกิดจากรีเฟล็กซ์ของตัวรับแรงดัน (Baroreceptor reflex) ที่ทำงานเมื่อมีการเปลี่ยนอิริยาบถและความดันโลหิตลดลง ยาลดความดันโลหิตชนิดอื่นๆ ก็อาจทำให้เกิดภาวะนี้ได้เช่นกัน รวมถึงยาต้านโคลิเนอร์จิก (Anticholinergics), ยากลุ่มโดปามิเนอร์จิก (Dopaminergic), ยากลุ่มฝิ่น (Opiates), และยาที่มีฤทธิ์ต่อจิตประสาท (Psychoactive)

  • ปัจจัยอื่นๆ (Other factors)

ผู้ที่มีแนวโน้มจะเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำขณะเปลี่ยนอิริยาบถ ได้แก่ ผู้สูงอายุ มารดาหลังคลอด และผู้ที่นอนพักบนเตียงเป็นเวลานาน นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคคลั่งผอม (Anorexia nervosa) และโรคล้วงอาเจียนหลังรับประทานอาหาร (Bulimia nervosa) มักพบภาวะดังกล่าวเป็นผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นบ่อย การดื่มแอลกอฮอล์ก็อาจเป็นสาเหตุของภาวะความดันโลหิตต่ำขณะเปลี่ยนอิริยาบถ เนื่องจากฤทธิ์ในการทำให้ร่างกายขาดน้ำ

กลไกการเกิดโรค (Mechanism)

ภาวะความดันโลหิตต่ำขณะเปลี่ยนอิริยาบถ เกิดขึ้นเมื่อแรงโน้มถ่วงทำให้เลือดคั่งอยู่ที่บริเวณปลายเท้าและขาส่วนล่าง ส่งผลให้การไหลเวียนกลับของเลือดดำเข้าสู่หัวใจลดลง เป็นเหตุให้ปริมาณเลือดที่หัวใจบีบตัวออก ลดลง และนำไปสู่ความดันเลือดแดงที่ลดต่ำลง ตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนอิริยาบถจากการนอนเป็นการยืนอาจทำให้มีปริมาตรเลือดเคลื่อนออกจากทรวงอกประมาณ 700 มิลลิลิตร พร้อมกับความดันโลหิตทั้งค่าซิสโตลิกและไดแอสโตลิกลดลง ผลกระทบโดยรวมคือการไหลเวียนของเลือดไปยังส่วนบนของร่างกายไม่เพียงพอ

โดยปกติแล้ว จะมีปฏิกิริยาอย่างรวดเร็วจากระบบหัวใจ หลอดเลือด ระบบประสาท กล้ามเนื้อ และฮอร์โมนประสาทหลายชนิด เพื่อควบคุมไม่ให้ความดันโลหิตลดลงมากเกินไป หนึ่งในกลไกเหล่านี้คือการหดตัวของหลอดเลือด (หรือที่เรียกว่า – กลไกการหดหลอดเลือดจากตัวรับแรงดัน (Baroreceptor reflex) ซึ่งช่วยดันเลือดกลับขึ้นไปยังส่วนบนของร่างกายอีกครั้ง กลไกนี้มักจะทำงานมากกว่าปกติ จึงทำให้ความดันโลหิตช่วงไดแอสโตลิกมักสูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อยืน เทียบกับตอนนอนราบ ดังนั้น จะต้องมีปัจจัยบางอย่างที่ไปรบกวนกลไกเหล่านี้และทำให้ความดันโลหิตลดลงมากกว่าปกติ ปัจจัยดังกล่าวอาจรวมถึงปริมาณเลือดที่น้อยเกินไป โรคบางชนิด หรือยาบางประเภท

การวินิจฉัย (Diagnosis)

ภาวะความดันโลหิตต่ำเมื่อเปลี่ยนอิริยาบถ สามารถยืนยันได้โดยการวัดความดันโลหิตของผู้ป่วยหลังจากนอนราบเป็นเวลา 5 นาที แล้ววัดอีกครั้งเมื่อยืนเป็นเวลา 1 นาที และ 3 นาทีตามลำดับ ภาวะนี้นิยามว่าเป็นการลดลงของความดันซิสโตลิกอย่างน้อย 20 มม.ปรอท หรือความดันไดแอสโตลิกอย่างน้อย 10 มม.ปรอท เมื่อเปรียบเทียบระหว่างค่าที่วัดในท่านอนราบกับค่าที่วัดในท่ายืน นอกจากนี้ควรวัดอัตราการเต้นของหัวใจในทั้งสองท่า หากอัตราหัวใจเต้นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปลี่ยนจากนอนเป็นยืน อาจแสดงถึงความพยายามของหัวใจในการชดเชยเพื่อคงปริมาตรเลือดที่ไหลออกจากหัวใจ ให้เพียงพอ

กลุ่มอาการที่เกี่ยวข้องคือ กลุ่มอาการหัวใจเต้นเร็วในท่ายืน (Postural orthostatic tachycardia syndrome: POTS) จะได้รับการวินิจฉัยเมื่ออัตราหัวใจเต้นเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 30 ครั้งต่อนาที โดยที่ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยหรือไม่เปลี่ยนเลย นอกจากนี้ยังอาจใช้การทดสอบบนเตียงเอน (Tilt table test) เพื่อช่วยในการวินิจฉัยได้ด้วย

  • คำนิยาม (Definition)

ภาวะความดันโลหิตต่ำเมื่อเปลี่ยนอิริยาบถ หมายถึงภาวะที่ความดันโลหิตลดลงเมื่อเปลี่ยนจากท่านั่งหรือนอนเป็นท่ายืน หนึ่งในคำจำกัดความจากสมาคมแพทย์เวชปฏิบัติครอบครัวแห่งอเมริกา (American Academy of Family Physicians: AAFP) ระบุว่า ภาวะนี้เกิดขึ้นเมื่อความดันซิสโตลิกลดลงอย่างน้อย 20 มม.ปรอท หรือความดันไดแอสโตลิกลดลงอย่างน้อย 10 มม.ปรอท ภายใน 3 นาทีหลังจากยืนขึ้น อาการแรกที่มักพบคือ รู้สึกมึนหรือเบาศีรษะเมื่อยืน และอาจตามมาด้วยอาการรุนแรงขึ้น เช่น ภาพแคบลงหรือสูญเสียการมองเห็น เวียนศีรษะ อ่อนแรง และในบางรายอาจถึงขั้นหมดสติ (Syncope)

  • ประเภทย่อย (Subcategories)

ภาวะความดันโลหิตต่ำเมื่อเปลี่ยนอิริยาบถชนิดเฉียบพลัน (Initial orthostatic hypotension) มักมีลักษณะเฉพาะคือ ความดันซิสโตลิกลดลง ≥ 40 มม.ปรอท หรือความดันไดแอสโตลิกลดลง ≥ 20 มม.ปรอท ภายใน 15 วินาทีหลังจากเปลี่ยนมาอยู่ในท่ายืน จากนั้นความดันโลหิตจะกลับคืนสู่ระดับปกติอย่างรวดเร็วโดยอัตโนมัติ ส่งผลให้ช่วงเวลาที่เกิดความดันโลหิตต่ำและอาการต่างๆ นั้นสั้นมาก (น้อยกว่า 30 วินาที)  ภาวะนี้สามารถตรวจพบได้ด้วยการวัดความดันโลหิตแบบต่อเนื่องทุกจังหวะการเต้นของหัวใจ (Beat-to-beat monitoring) ขณะผู้ป่วยเปลี่ยนอิริยาบถแบบกระตุ้นให้ลุกขึ้นยืนอย่างกระฉับกระเฉง (Active standing test)

ภาวะความดันโลหิตต่ำเมื่อเปลี่ยนอิริยาบถชนิดภายใน 3 นาที มักมีลักษณะเฉพาะคือ ความดันซิสโตลิกลดลง ≥ 20 มม.ปรอท หรือความดันไดแอสโตลิกลดลง ≥ 10 มม.ปรอท ภายในช่วงเวลา 30 วินาทีถึง 3 นาทีหลังจากยืนขึ้น

ภาวะความดันโลหิตต่ำเมื่อเปลี่ยนอิริยาบถชนิดเกิดช้า มักมีลักษณะคือ ความดันซิสโตลิกลดลงอย่างต่อเนื่อง ≥ 20 มม.ปรอท หรือความดันไดแอสโตลิกลดลงอย่างต่อเนื่อง ≥ 10 มม.ปรอท หลังจากผ่านไปมากกว่า 3 นาทีหลังการยืนขึ้นหรือตรวจด้วยการเอนตัวบนเตียงทดสอบ

การรักษา (Management)

  • การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (Lifestyle changes)

นอกเหนือจากการรักษาสาเหตุพื้นฐานที่สามารถแก้ไขได้ (เช่น การหยุดหรือปรับลดขนาดยาบางชนิด การรักษาสาเหตุที่เกิดจากภูมิคุ้มกันผิดปกติ) ยังมีวิธีการอื่นอีกหลายประการที่สามารถช่วยบรรเทาอาการของภาวะความดันโลหิตต่ำเมื่อเปลี่ยนอิริยาบถ และป้องกันไม่ให้เกิดอาการหมดสติ (Syncope) ซ้ำได้ แม้เพียงการเพิ่มระดับความดันโลหิตเล็กน้อยก็อาจเพียงพอที่จะช่วยให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงสมองได้อย่างเหมาะสมขณะยืน

ในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติ (Dysautonomia) และไม่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีความดันโลหิตสูง การดื่มน้ำวันละ 2–3 ลิตร และรับประทานเกลือวันละ 10 กรัม สามารถช่วยบรรเทาอาการได้ โดยช่วยเพิ่มปริมาณของเหลวในระบบไหลเวียนโลหิตให้มากที่สุด

อีกวิธีหนึ่งคือ การยกระดับศีรษะของเตียงให้สูงเล็กน้อย ซึ่งจะช่วยลดการไหลย้อนกลับของของเหลวจากแขนขาเข้าสู่ไตในเวลากลางคืน ส่งผลให้ปัสสาวะในช่วงกลางคืนลดลง และช่วยรักษาปริมาณของเหลวในระบบไหลเวียนให้คงที่

มีหลายวิธีที่สามารถช่วยส่งเสริมการไหลกลับของเลือดไปยังหัวใจ เช่น การใส่ถุงน่องแบบรัดเพื่อพยุงหลอดเลือด (Compression stockings) และการออกกำลังกายต้านแรงดันจากท่ายืน (Physical counterpressure maneuvers: PCMs) ที่สามารถทำได้ก่อนยืนขึ้น เช่น การไขว้ขา หรือการนั่งยองๆ เพราะการหดตัวของกล้ามเนื้อจะช่วยดันเลือดจากขากลับขึ้นไปยังส่วนบนของร่างกาย

  • การใช้ยา

ยาไมโดดรีน (Midodrine) ซึ่งออกฤทธิ์กระตุ้นตัวรับแอลฟา-1 แอดรีเนอร์จิก (α1-adrenergic receptor agonist) อาจช่วยบรรเทาอาการในผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตต่ำเมื่อเปลี่ยนอิริยาบถได้ ส่วนผลข้างเคียงที่พบบ่อยคือการขนลุก (Piloerection หรือ "Goose bumps") สำหรับฟลูดรอคอร์ติโซน (Fludrocortisone) ก็มีการนำมาใช้เช่นกัน แม้ว่าหลักฐานสนับสนุนจะยังมีจำกัด

ดรอกซิโดปา (Droxidopa) ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของนอร์อิพิเนฟรีน (Norepinephrine prodrug) และออกฤทธิ์กระตุ้นตัวรับแอดรีเนอร์จิกแบบไม่จำเพาะเจาะจง (Non-selective adrenergic receptor agonist) พบว่ามีประสิทธิผลในการรักษาเช่นกัน โดยมีรายงานผลข้างเคียงเพียงเล็กน้อยและส่วนใหญ่ไม่รุนแรง

มาตรการรักษาอื่นๆ บางรายการมีหลักฐานสนับสนุนเพียงเล็กน้อย เช่น อินโดเมทาซิน (Indomethacin), ฟลูออกซิทีน (Fluoxetine), ยาต้านโดปามีน (Dopamine antagonists), เมโทโคลพรามายด์ (Metoclopramide), ดอมเพอริโดน (Domperidone), ยายับยั้งเอนไซม์โมโนเอมีนออกซิเดสร่วมกับไทรามีน (Monoamine oxidase inhibitors with tyramine) ซึ่งอาจก่อให้เกิดความดันโลหิตสูงอย่างรุนแรง, ออกซิโลฟรีน (Oxilofrine), โพแทสเซียมคลอไรด์ (Potassium chloride) และ โยฮิมบีน (Yohimbine)

แอมเพรล็อกเซทีน (Ampreloxetine หรือ TD-9855) ซึ่งเป็นยายับยั้งการดูดกลับของนอร์อิพิเนฟรีน (Norepinephrine reuptake inhibitor) กำลังอยู่ระยะพัฒนาขั้นสุดท้ายเพื่อใช้ในการรักษาภาวะนี้

  • อื่นๆ

อุปกรณ์หุ่นยนต์ทางการแพทย์ เช่น เครื่อง Erigo มีหลักฐานยืนยันว่าสามารถช่วยบรรเทาภาวะความดันโลหิตต่ำเมื่อเปลี่ยนอิริยาบถได้ในผู้ป่วยบางรายได้ โดยเครื่องเหล่านี้จะปรับเปลี่ยนอิริยาบถของผู้ป่วยจากแนวราบ 0 องศา ไปยังท่ายืน 90 องศาอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งช่วยให้ระบบความดันโลหิตมีเวลาปรับตัวได้ช้าลง

พยากรณ์โรค (Prognosis)

ภาวะความดันโลหิตต่ำเมื่อเปลี่ยนอิริยาบถ อาจเป็นสาเหตุของการหกล้มโดยไม่ตั้งใจได้ นอกจากนี้ยังมีความเชื่อมโยงกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของโรคหัวใจและหลอดเลือด ภาวะหัวใจล้มเหลว และโรคหลอดเลือดสมอง อีกทั้งข้อมูลเชิงสังเกตยังชี้ว่า การมีภาวะนี้ในวัยกลางคนอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะสมองเสื่อมและความสามารถในการรับรู้ที่ลดลงในระยะยาว

แปลและเรียบเรียงจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Orthostatic_hypotension [2025, June 23] โดย ชฎาวีณ์ ไชยภูริพัฒน์

อ่านตรวจทานโดย ศ. คลินิก พญ. ศิราภรณ์ สวัสดิวร