คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน การรอดชีวิตจากโรคมะเร็งกับการเคลื่อนไหวร่างกาย

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน การรอดชีวิตจากโรคมะเร็งกับการเคลื่อนไหวร่างกาย

ปัจจุบันการแพทย์ด้านโรคมะเร็งมีประสิทธิภาพสูงขึ้นมากทั้งในการคัดกรอง การตรวจ และการรักษาส่งผลให้ผู้ป่วยหลังครบการรักษามีอัตรารอดชีวิตที่สูงขึ้น ซึ่งแพทย์พบว่า ผู้ที่รอดชีวิตเหล่านี้มักมีอาการ 'เหนื่อยล้า/อ่อนเพลีย (Fatigue)' จนกระทบต่อคุณภาพชีวิต  

คณะนักวิทยาศาสตร์จากประเทศเนเทอร์แลนด์ นำโดย HUIZINGA, FAMKE จาก Department of General Practice and Elderly Care Medicine, University Medical Center Groningen, University of Groningen, Groningen เนเทอร์แลนด์  จึงต้องการศึกษาว่า การดูแลรักษาผู้ป่วยที่รอดชีวิตฯหลังการรักษาและมีอาการเหนื่อยล้าด้วย’วิธีให้ผู้ป่วยมีกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกาย (Physical activity) ที่บ้านหรือในชุมชนที่พักอาศัย ในระดับทั่วไปหรือในระดับปานกลางอย่างต่อเนื่อง โดยมีผู้ดูแลคอยแนะนำและให้คำปรึกษาเฉพาะตัวในกิจกรรมดังกล่าว จะช่วยลดอาการเหนื่อยล้าลงได้หรือไม่, และได้รายงานผลการศึกษาในวารสารการแพทย์ด้านเวชศาสตร์การกีฬา (American College of Sport Medicine: ACSM) Medicine & Science in Sports & Exercise ฉบับเดือน ธันวาคม 2021

โดยเป็นการศึกษาแบบการวิเคราะห์อภิมาน (Meta analysis) โดยรวบรวมข้อมูลการศึกษาวิจัยที่เป็นการศึกษาเปรียบเทียบแบบสุ่มตัวอย่าง (Randomized controlled trials) ที่ศึกษาในเรื่องดังกล่าวจากอินเทอร์เน็ตเมื่อ 19 พฤษภาคม 2020  พบว่ามี 11 การศึกษาที่มีข้อมูลตรงกับที่คณะผู้ศึกษาต้องการ, ทั้ง 11 การศึกษามีผู้ป่วยรวมกัน 1,066 ราย: 77% = มะเร็งเต้านม, 14% = มะเร็งรังไข่, 4% = มะเร็งลำไส้ใหญ่และมะเร็งไส้ตรง, 4% = มะเร็งต่อมลูกหมาก, 1% = ผู้ป่วยมะเร็งที่ไม่ระบุชนิดมะเร็ง

ผลการศึกษาพบว่า อาการเหนื่อยล้า ดีขึ้นอย่างรวดเร็วและยืนยาวตลอดระยะเวลาศึกษา ซึ่งประเมินที่ 3 เดือน และ 6-9 เดือน, และอาการจะดีขึ้นมากกว่าในกลุ่มที่ได้รับการดูแลและขอคำปรึกษาที่บ่อยขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่ค่อยปรึกษา 

คณะผู้ศึกษาสรุปว่า การทำกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายอย่างต่อเนื่องที่บ้าน/ชุมชนฯของผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่รอดหลังการรักษาภายใต้การดูแลให้คำปรึกษาของคณะบุคคลากรการแพทย์ช่วยลดอาการเหนื่อยล้าของผู้ป่วยได้อย่างสำคัญทางสถิตินานถึง 9 เดือน (ระยะเวลาที่ศึกษา) และการได้รับการดูแลให้คำปรึกษาที่ใกล้ชิดในกิจกรรมนี้ยังช่วยเพิ่มประสิทธิผลของกิจกรรมฯได้อีกด้วย

บรรณานุกรม

  1. Medicine & Science in Sports & Exercise: 2021; 53 (12):2661-2674.  https://journals.lww.com/acsm-msse/Fulltext/2021/12000/Home_based_Physical_Activity_to_Alleviate_Fatigue.22.aspx [2022,Aug29]