9. ตลาดการแพทย์ทางไกล – ตอนที่ 60

CIM Journal รายงานออนไลน์ถึง อนาคตตลาด Telemedicine สำหรับประเทศไทย

ที่ผ่านมาประเทศไทยได้มีการนำการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) มาใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วย โดยเฉพาะในช่วงระบาดไปทั่วโลก (Pandemic) ของไวรัสโควิด 19 บ้างแล้ว โดยเป็นการนำมาใช้ในกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง (Chronic) ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในเมือง และเข้ารับการรักษาอยู่ตามโรงพยาบาลเอกชน (Private), โรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่, และโรงเรียนแพทย์ (Medical school)

โดยคนไข้หรือผู้ดูแลมีความคุ้นชิน (Accustomed) กับการใช้เทคโนโลยีเป็นอย่างดี โดยจะเป็นการให้บริการผ่านซอฟต์แวร์ประยุกต์ (Application: App) บนโทรศัพท์อัจฉริยะ (Smartphone) ซึ่งมีทั้งที่โรงพยาบาลลงทุน (Invest) พัฒนารูปแบบพื้นฐาน (Platform) ของโรงพยาบาลขึ้นมาเอง

หรือร่วมมือ (Collaborate) กับผู้ประกอบการ (Entrepreneur) ด้านเทคโนโลยีสุขภาพ (Health tech) ในการจัดทำ และบางแห่งอาจมีการร่วมมือกับองค์กรอื่น เพื่อใช้ทรัพยากรร่วมกัน (Shared resources) เช่น การที่บริษัทประกันสุขภาพ และค่ายมือถือ (Mobile phone) ร่วมกับโรงพยาบาลเอกชนให้บริการการแพทย์ทางไกลแก่สมาชิก เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ภาครัฐโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) [National Health Security Office: NHSO] ได้พยายามผลักดัน (Drive) ให้เกิดการนำการแพทย์ทางไกล มาใช้ในโรงพยาบาลรัฐเพิ่มขึ้น โดยได้กำหนดให้ผู้ป่วยที่ใช้สิทธิบัตรทอง (Gold card) สามารถเข้ารับบริการการแพทย์ทางไกลกับโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการได้

อย่างไรก็ตาม หากมองถึงสัดส่วน (Proportion) การใช้บริการการแพทย์แบบทางไกลของประเทศไทยในปัจจุบัน ยังเรียกว่าเป็นการบริการเฉพาะกลุ่ม ยังไม่ขยายครอบคลุมไปทั้งหมด (Comprehensive) โดยมีข้อติดขัดอยู่หลายประการ ทั้งจากโรงพยาบาลหรือผู้ให้บริการเอง เช่น ขาดอุปกรณ์, ขาดเครื่องมือที่จำเป็น, และขาดเจ้าหน้าที่ (Staff) ที่มีความชำนาญในการปฏิบัติงาน

เช่นเดียวกับผู้รับบริการก็มีปัญหาในการใช้เครื่องมือ, การใช้ App ของทางโรงพยาบาล, และการสื่อสาร (Communication) แบบไม่ได้พบตัวจริง, ทำให้เกิดข้อผิดพลาดทางการแพทย์ (Medical error) ขึ้นได้ ไม่นับรวมปัญหาอื่นๆ ซึ่งต้องสำรวจ (Survey) จากผู้ปฏิบัติงานจริงเพิ่มเติม

ดังนั้นแม้ว่าบริการแบบการแพทย์ทางไกลในประเทศไทย จะมีโอกาส (Opportunity) เติบโตสูงขึ้นตามแนวโน้ม (Trend) ของโลก โดยมีการพัฒนาทางเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นตัวสนับสนุน (Support) เช่น เทคโนโลยี 5G, อินเทอร์เน็ตสรรพสิ่ง (Internet of things: IOTs), ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence: AI), ข้อมูลมหึมา (Big data) และอื่นๆ

แต่การก้าวหน้า (Advancement) ไปได้ไกลแค่ไหน หลังวิกฤต (Crisis) ของโควิด 19 ขึ้นกับการสนับสนุนจากภาครัฐบาล โดยเฉพาะโครงสร้างดิจิทัลพื้นฐาน (Digital infrastructure) ทั้งฝั่งผู้ให้บริการ, ระบบเครือข่าย (Network) ที่จำเป็น, และฝั่งผู้ที่เข้ารับบริการ โดยการสนับสนุนทำได้หลายรูปแบบ เช่น ทุน (Capital) ผู้ประกอบการ, ทุนสนับสนุนธุรกิจเริ่มต้น (Start-up) เป็นต้น

ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงควรค่อยเป็นค่อยไป (Gradual) โดยใช้บริการการแพทย์ทางไกล เสริมการบริการรักษาพยาบาลแบบเดิม (Conventional) ไปก่อน โดยมุ่งหวังเพื่อช่วยเสริมศักยภาพ (Potential) ในการให้การรักษาพยาบาลแบบเดิมมีประสิทธิภาพ (Efficiency) มากขึ้น และอาจขยายไปสู่การส่งเสริมสุขภาพ (Health promotion) ด้านอื่นๆ ในระยะเวลาต่อไป

แหล่งข้อมูล

  1. https://cimjournal.com/special-articles/health-telemedicine/#:~:text=องค์การอนามัยโลก [2025 June 8].
  2. https://en.wikiversity.org/wiki/Telemedicine [2025, June 8].