2. ตลาดผู้สูงอายุ – ตอนที่ 25

งานวิจัยต้นแบบ "เตียงตื่นตัว" (Joey-Active Bed) ของศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (National Metal and Materials Technology Center: MTEC) ได้รับพัฒนาเตียงนอนสำหรับผู้สูงอายุ โดยมีกลไกช่วยปรับ (Adjust) ท่าทางให้ผู้ใช้งานลุก, นั่ง, และยืน ได้ด้วยตัวเอง

คุณลักษณะ (Feature) ดังกล่าว ช่วยลดความเสี่ยงในการหกล้ม และควบคุมด้วยกลไกทางไกล (Remote control) โดยมีการออกแบบ (Design) สวยงาม อันเป็นจุดขายโดดเด่น (Unique selling point) ของเฟอร์นิเจอร์ จึงให้ความรู้สึกแตกต่าง (Differentiate) จากเตียงผู้ป่วยแบบทั่วไป

ทั้งนี้การพัฒนาผลิตภัณฑ์ (ซึ่งรวมสินค้าและบริการ) สำหรับผู้สูงอายุควรคำนึงถึง 3 มิติหลัก ที่เรียกว่า 3 Cs กล่าวคือ Care, Creative, และ Cozy ผู้สูงอายุในยุคใหม่มีวิถีการใช้ชีวิต (Life style) แบบสบายๆ ประชากรที่กำลังจะเข้าสู่วัยสูงอายุในอนาคตอันใกล้ ก็เป็นกลุ่มที่มีวัยทำงานอยู่ในช่วงที่เศรษฐกิจเติบโต จึงมีการสะสมความมั่งคั่ง (Wealth accumulation) มาในระดับหนึ่ง

ดังนั้น ทัศนคติต่อการดำเนินชีวิตหลังเกษียณ (Retirement) ของประชากรกลุ่มนี้ ก็คือการพักผ่อน (Relaxation) และการดูแลสุขภาพเพื่อให้ดูดี นอกเหนือจากการเดินทาง (Travel) เพื่อท่องเที่ยว หลังจากทำงานหนักมานาน การทำตลาด (Marketing) ผู้สูงอายุกลุ่มนี้ จึงต้องแตกต่างจากกลุ่มผู้สูงอายุในยุคก่อนหน้า ที่มักเป็นคนประหยัด (Thrifty) และชอบเก็บตัวอยู่กับบ้าน

ผู้ประกอบการ (Entrepreneur) กำหนดกลยุทธ์ (Strategy) ทางการตลาดให้เหมาะกับผู้สูงอายุแต่ละมิติ ดังนี้

  • Care - ใส่ใจในรายละเอียดของผลิตภัณฑ์สำหรับผู้สูงอายุส่วนมาก ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์เฉพาะกลุ่ม แต่เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีรายละเอียดเพิ่มขึ้นกว่าผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายเป็นหลักในท้องตลาด ผู้ประกอบการจึงควรใส่ใจในการผลิตเพื่อตอบโจทย์ผู้สูงอายุ เช่น อาหารที่มีปริมาณต่อหน่วยบรรจุน้อยกว่าปกติเพื่อให้เหมาะกับระบบย่อยอาหาร (Digestive system) ของผู้สูงอายุ ที่อาจไม่มีประสิทธิภาพ (Efficiency) เท่าวัยหนุ่มสาว, ห้องน้ำที่มีราวให้ผู้สูงอายุจับเพื่อพยุงตัว, และประตูแบบเลื่อนเปิด-ปิด เพราะผู้สูงอายุอาจไม่มีแรงพอจะบิดลูกบิดได้
  • Creative - ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ที่เจาะตลาด (Market penetration) ผู้สูงอายุ โดยเฉพาะคนในกลุ่มท้ายๆ ของยุค Baby Boomer (ผู้ที่เกิดระหว่าง ปี พ.ศ. 2489 ถึง พ.ศ. 2507) และกลุ่มคนที่ยังแข็งแรง จึงต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อให้เป็นที่ต้องการของตลาดหลัก และไม่เป็นอุปสรรค (Obstacle) ในการเลือกซื้อของผู้สูงอายุ
  • Cozy - การรู้ซึ้ง (Insights) ถึงผู้บริโภคกลุ่มนี้ ว่ามีความรู้สึกอยากดูดี ไม่ต่างจากวัยหนุ่มสาว และมิได้ต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ตั้งใจผลิตขึ้นเพื่อผู้ที่ด้อยสมรรถนะ (Dis-ability) ทางร่างกาย ตัวอย่างสุขภัณฑ์ (Sanitary ware) ที่ต้องการ มีส่วนผสมของเมลามีน (Melanin) กับชานอ้อย (Bagasse) ซึ่งนอกจากจะมีน้ำหนักเบากว่าสุขภัณฑ์ปรกติ ที่ผลิตจากดินเผา (Ceramic) แล้วยังไม่ทำให้เกิดอันตรายเมื่อแตกหัก ผู้ใช้จึงหมดกังวล (Concern) จากอุบัติเหตุที่ไม่อาจคาดคิด

ผู้ประกอบการที่ต้องการส่งออก (Export) ผลิตภัณฑ์สำหรับผู้สูงอายุด้วย จึงเริ่มออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อทดลองทำตลาดในประเทศก่อน แล้วรอดูผลตอบรับจากผู้ใช้งาน ซึ่งจะเป็นแนวทางในการปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ก่อนทำตลาดต่างประเทศ

แหล่งข้อมูล

  1. https://kmc.exim.go.th/detail/20210121152800/20210322110347 [2023, January 26].
  2. https://www.nber.org/bah/2015no2/medical-spending-elderly [2023, January 26].