ตะกอนวุ้นตา (Eye floater)
- โดย ภวรัญชน์ วีระวุฒิพล และ ผศ.นพ.ชวกิจ ภูมิบุญชู
- 29 เมษายน 2568
- Tweet
สารบัญ
- เกริ่นนำ
- อาการและสัญญาณของโรค
- สาเหตุ
- วุ้นตาเสื่อมและหดตัว
- การหลุดลอกของวุ้นตา
- จอตาลอกหลุด
- การหดตัวของหลอดเลือดไฮอะลอยด์
- สาเหตุอื่น ๆ ที่พบบ่อย
- การวินิจฉัย
- การรักษา
- การผ่าตัด
- การรักษาด้วยเลเซอร์วิโตรลิซิส
- แอโทรพีน
- ระบาดวิทยา
- ในสัตว์อื่น
เกริ่นนำ
ตะกอนวุ้นตา (Eye floater) คือตะกอนที่สามารถมองเห็นได้ ซึ่งเกิดจากโปรตีนชิ้นเล็กๆ หรือเศษเซลล์อื่นๆ ฉายเงาปรากฏบนจอตา (Retina) โดยตะกอนเหล่านี้อาจอยู่ภายในวุ้นตา (Vitreous Humour) หรืออาจอยู่ระหว่างวุ้นตากับจอตาก็ได้ เราจะมองเห็นตะกอนวุ้นตาได้ชัดเป็นพิเศษเมื่อมองไปยังพื้นผิวที่ว่างเปล่าหรือพื้นที่เปิดที่มีสีเดียว เช่น ท้องฟ้าสีฟ้า เป็นต้น ตะกอนวุ้นตาแต่ละชิ้นสามารถจำแนกตามขนาด รูปร่าง ความหนาแน่น ค่าดัชนีหักเหแสง และการเคลื่อนที่ บางครั้งเราเรียกตะกอนเหล่านี้ว่า Muscae Volitantes (ภาษาละติน แปลว่า "แมลงวัน") หรือ Mouches Volantes (ความหมายเดียวกันในภาษาฝรั่งเศส) วุ้นตาโดยทั่วไปจะมีความใส แต่เมื่อบุคคลอายุมากขึ้น วุ้นตาอาจเกิดความเปลี่ยนแปลงและเสื่อมสภาพลงได้ ตะกอนวุ้นตา ประเภทที่พบบ่อยที่สุดเกิดจากการเสื่อมสภาพของวุ้นตาตามวัย เราเรียกอาการมองเห็นตะกอนวุ้นตาซึ่งสร้างความรำคาญหรือรบกวนการมองเห็นเช่นนี้ว่า Myodesopsia หรือในชื่ออื่น ๆ เช่น Myodaeopsia และ Myiodeopsia หรือ Myiodesopsia โดยปกติเรามักไม่รักษาตะกอนวุ้นตา ยกเว้นในกรณีเป็นรุนแรง ซึ่งอาจใช้การผ่าตัดวุ้นตา การรักษาด้วยเลเซอร์ หรือตัวยาเพื่อช่วยบรรเทาอาการลงได้
เรามองเห็นตะกอนวุ้นตา เนื่องจากมีเงาตกกระทบบนจอตา หรือเกิดจากการหักเหของแสงผ่านตะกอนเหล่านี้ ตะกอนอาจปรากฏเป็นจุด เส้น หรือเศษ ๆ คล้ายใยแมงมุมลอยอยู่ในลานสายตาทั้งแบบปรากฏเพียงชิ้นเดียวหรือเป็นกลุ่ม โดยจะเคลื่อนที่ช้า ๆ หรือเคลื่อนไปตามทิศทางที่ลูกตากลอกไป เนื่องจากตะกอนวุ้นตาเกิดขึ้นภายในลูกตา มันจึงไม่ใช่ภาพลวงตา (Optical Illusion) แต่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดจากโครงสร้างของดวงตาเอง (Entoptic Phenomenon) ตะกอนวุ้นตาแตกต่างจากภาวะ Visual Snow ซึ่งเป็นอาการที่มองเห็นภาพคล้ายโทรทัศน์ที่มีสัญญาณรบกวน อย่างไรก็ตาม ทั้งสองอาการนี้อาจเกิดร่วมกันได้และอาจเกิดพร้อมกับความผิดปกติทางการมองเห็นอื่น ๆ เช่น การเห็นแสงแฉก (starbursts) การเห็นเส้นแสง (trails) และการเห็นภาพติดตา (afterimages)
อาการและสัญญาณของโรค
ตะกอนวุ้นตาเกิดจากวัตถุที่อยู่ในช่องของเหลวภายในวุ้นตา ซึ่งเป็นของเหลวหนืดหรือเจลหนา ๆ ที่หุ้มดวงตาไว้ หรือตะกอนอาจอยู่ระหว่างวุ้นตากับจอตา วุ้นตาเป็นสารโปร่งใสลักษณะเหมือนเยลลี่และเป็นองค์ประกอบหลักของลูกตาอยู่ภายในโพรงหลังเลนส์ ด้วยเหตุนี้ ตะกอนวุ้นตาจึงเคลื่อนที่ไปตามการเคลื่อนไหวที่รวดเร็วของดวงตา และในขณะเดียวกันก็ลอยช้า ๆ บนของเหลวด้วย เมื่อสังเกตเห็นครั้งแรก การตอบสนองตามธรรมชาติคือเราจะพยายามมองตรงไปที่ตะกอนวุ้นตา อย่างไรก็ตาม การพยายามเคลื่อนสายตาไปยังตะกอนวุ้นตาเป็นเรื่องยากเนื่องจากตะกอนจะเคลื่อนที่ตามการเคลื่อนไหวของดวงตานั่นเอง
เราจะสังเกตเห็นตะกอนวุ้นตาได้ชัดเมื่อมองไปที่พื้นผิวที่ว่างเปล่าหรือพื้นที่โล่งที่มีเฉดสีเดียว ดังเช่น ท้องฟ้าสีฟ้า แม้ในภาษาอังกฤษเราจะเรียกตะกอนวุ้นตาว่า Floaters (Float = ลอย) แต่ตะกอนเหล่านี้หลายชิ้นมักจะจมลงไปยังส่วนล่างของลูกตาไม่ว่าลูกตาจะอยู่ในทิศทางใด กล่าวคือ เมื่ออยู่ในท่าราบ (ขณะมองขึ้นหรือนอนหงายหลัง) ตะกอนวุ้นตามักกระจุกตัวอยู่ใกล้กับโฟเวีย (Fovea) ซึ่งเป็นจุดกึ่งกลางดวงตา แสงจ้าในเวลากลางวันเองก็ทำให้รูม่านตาหดลง ลดขนาดรูรับแสง ส่งผลให้ตะกอนวุ้นตาคมชัดและสังเกตเห็นได้ง่ายขึ้นด้วย
ตะกอนที่มีอยู่แต่กำเนิดมักคงอยู่ไปตลอดชีวิต ส่วนตะกอนซึ่งปรากฏภายหลังอาจหายไปในช่วงไม่กี่สัปดาห์หรือไม่กี่เดือน โดยทั่วไป ตะกอนวุ้นตาไม่ใช่เรื่องแปลกและไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรง สำหรับคนส่วนมาก การสำรวจโดยจักษุแพทย์ในปี ค.ศ. 2002 เปิดเผยว่า ในสหราชอาณาจักร เฉลี่ยมีผู้ป่วยที่เข้าพบแพทย์ด้วยอาการมองเห็นตะกอนวุ้นตาประมาณ 14 รายต่อเดือนต่อจักษุแพทย์หนึ่งคน
ตะกอนวุ้นตาสามารถมองเห็นได้แม้ในขณะปิดตาในวันที่มีแสงจ้าเป็นพิเศษ เนื่องจากมีแสงเพียงพอที่จะทะลุผ่านเปลือกตาและสร้างเงาขึ้นได้ นอกจากผู้สูงอายุ ตะกอนวุ้นตายังก่อปัญหาแก่คนหนุ่มสาวโดยเฉพาะคนที่มีสายตาสั้น นอกจากนี้ยังพบอาการนี้บ่อยหลังการผ่าตัดต้อกระจก ผ่าตัดเลนส์ตา หรือเกิดหลังได้รับบาดเจ็บ
ตะกอนอาจจับและหักเหแสงจนบดบังทัศนวิสัยได้ชั่วคราว และอาการจะหายไปก็ต่อเมื่อตะกอนวุ้นตาเคลื่อนที่ไปยังบริเวณอื่น ซึ่งบ่อยครั้งทำให้บุคคลรู้สึกไม่สบายใจและคิดว่าตนเห็นบางสิ่งที่จริง ๆ แล้วไม่มีอยู่ตรงหางตา คนส่วนใหญ่จะค่อย ๆ ปรับตัวและเรียนรู้ที่จะไม่ใส่ใจตะกอนวุ้นตาได้เอง แต่สำหรับผู้ที่มีอาการรุนแรง ตะกอนวุ้นตาจะมีขนาดใหญ่ และมองเห็นได้เกือบตลอดเวลา จึงแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ผู้ป่วยจะทำเป็นมองไม่เห็น
ในกรณีของคนหนุ่มสาวโดยเฉพาะผู้ที่อายุต่ำกว่า 35 ปี ตะกอนวุ้นตามักลอยอยู่ในบริเวณด้านหลังของดวงตาที่เรียกว่า Pre-Macular Bursa โดยตะกอนมักมีรูปร่างชัดเจน และดูคล้ายกับ “หนอนใส ๆ” หรือใยแมงมุม เนื่องจากตะกอนวุ้นตาอยู่ใกล้กับจอตาจึงทำให้มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อลานสายตาของผู้คน การวิจัยเกี่ยวกับตะกอนวุ้นตาในจุด Pre-Macular Bursa ยังมีอยู่น้อย และวิธีรักษาอื่นๆ ที่ปลอดภัย นอกเหนือจากการผ่าตัดวุ้นตายังไม่มีการค้นพบที่ชัดเจน สาเหตุแและการพยากรณ์ของโรคยังไม่ชัดเจน
สาเหตุ
มีหลายสาเหตุที่ทำให้เกิดตะกอนวุ้นตา อาการสามารถเกิดขึ้นเมื่อดวงตาเสื่อมสภาพตามวัย
ในกรณีที่พบได้น้อย ตะกอนวุ้นตา อาจเป็นสัญญาณของการหลุดลอก หรือการฉีกขาดของจอตา
- วุ้นตาเสื่อม (Vitreous syneresis)
วุ้นตาเสื่อม (Vitreous Syneresis) วุ้นตามีการเสื่อมตัวเป็นของเหลว และมีการหดตัว ตามอายุสามารถทำให้เกิดวุ้นตาเสื่อมได้ นอกจากนี้ การบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุที่ลูกตาก็สามารถทำให้เกิดอาการเหล่านี้ได้เช่นกัน
- การหลุดลอกของวุ้นตา (Vitreous detachments)
เป็นหนึ่งในกระบวนการการแก่ตัวตามธรรมชาติของมนุษย์ วุ้นตาที่เหลวจะสูญเสียแรงยึดและหดตัวลง ทำให้เกิดการหลุดลอกจากบริเวณส่วนหลังของถุงวุ้นตา ใกล้กับจอตา หรือก็คือเยื่อหุ้มวุ้นตาถูกปล่อยออกจากจอตา ในระหว่างการหลุดลอกนี้ วุ้นตาที่หดตัวจะมีกลไกกระตุ้นจอตาทำให้ผู้ป่วยเห็นแสงวาบซึ่งเกิดแบบสุ่ม ซึ่งบางครั้งเรียกว่า "แฟลชเชอร์ (แสงวาบ)" หรือในทางการแพทย์เรียกว่า Photopsia การหลุดลอกของวุ้นตาที่ออกจากบริเวณรอบขั้วประสาทตาบางครั้ง ทำให้เกิดตะกอนวุ้นตาขนาดใหญ่ โดยปกติจะมีรูปร่างเป็นวง (Weiss Ring)
การหลุดลอกของวุ้นตาส่วนหลัง พบได้บ่อยในผู้ที่:
- สายตาสั้น
- ผ่านการผ่าตัดต้อกระจกหรือเอาเลนส์ใสออก
- ได้ทำการผ่าตัดด้วยเลเซอร์ Nd:YAG ที่ดวงตา
- เคยมีการอักเสบภายในตา
- จอตาลอกหลุด (Retinal detachment)
การแยกตัวของจอตาเป็นภาวะแทรกซ้อนจากการหลุดลอกของวุ้นตา ส่วนหนึ่งของจอตาอาจถูกดึงออกไปพร้อมเยื่อหุ้มวุ้นตาที่แยกตัวออก ทำให้เกิดการแยกตัวของจอตาตามมาด้วย และการฉีกขาดของจอตานี้อาจทำให้ของเหลวรั่วไหลเข้าไปด้านหลังจอตา นำไปสู่การที่จอตาแยกตัวออกจากกันในที่สุด โดยมากจะมีเลือดรั่วเข้าไปในวุ้นตา และผู้ป่วยจะเห็นจุดดำเล็ก ๆ หรือเส้นจำนวนมากเคลื่อนที่ไปทั่วลานสายตาหรือบางครั้งอาจเห็นม่านเทา ๆ บดบังการมองเห็นของตาข้างหนึ่ง การแยกตัวของจอตาเป็นอาการที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาจากแพทย์โดยทันทีเพราะอาจนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็น ดังนั้น หากเกิดแสงวาบและตะกอนวุ้นตาจำนวนมากในระยะเวลาสั้น ๆ ควรเข้ารับการตรวจจากผู้เชี่ยวชาญด้านสายตาโดยเร็ว โดยเฉพาะจากจักษุแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านจอตา
- การหดตัวของหลอดเลือดไฮอะลอยด์ (Regression of hyaloid artery)
หลอดเลือดไฮอะลอยด์ (Hyaloid Artery) คือหลอดเลือดที่วิ่งผ่านวุ้นตาระหว่างอยู่ในครรภ์ หลอดเลือดชนิดนี้จะค่อย ๆ หดตัวลงในไตรมาสที่สามของการตั้งครรภ์ และการสลายตัวดังกล่าวอาจทิ้งเศษเซลล์บางส่วนไว้ในตาได้
- สาเหตุอื่นๆ ที่พบบ่อย
ผู้ป่วยที่มีรอยฉีกขาดในจอตาอาจประสบปัญหามีตะกอนวุ้นตาหากเซลล์เม็ดเลือดแดงหลุดออกมาจากหลอดเลือด ในขณะที่ผู้ป่วยที่มีอาการอักเสบที่เนื้อเยื่อยูเวีย หรือการอักเสบของวุ้นตา เช่น ในกรณีของการติดเชื้อโรคท็อกโซพลาสโมซิส (Toxoplasmosis) อาจพบตะกอนวุ้นตาหลายชิ้นและมีการมองเห็นที่ลดลง เนื่องจากมีเซลล์เม็ดเลือดขาวสะสมอยู่ในเยื่อหุ้มวุ้นตา
สาเหตุอื่น ๆ ที่พบได้ คือ ภาวะจุดรับภาพบวม (Cystoid Macular Edema) และภาวะวุ้นตาเสื่อม ชนิด Asteroid Hyalosis ซึ่งเป็นความผิดปกติของวุ้นตาเอง โดยจะมีแคลเซียมมาจับตัวกันเป็นกลุ่มติดกับโครงสร้างคอลลาเจนในวุ้นตา ตะกอนแคลเซียมที่เกิดขึ้นในลักษณะนี้จะเคลื่อนที่ได้เล็กน้อยตามการเคลื่อนไหวของดวงตา แต่จะเคลื่อนที่กลับสู่ตำแหน่งเดิมของมันเอง
การวินิจฉัย
ตะกอนวุ้นตามักจะสามารถสังเกตเห็นได้ง่ายเมื่อจักษุแพทย์หรือผู้ตรวจสายตาใช้เครื่องตรวจตา (Ophthalmoscope) หรือกล้องตรวจตาสลิตแลมป์ (Slit Lamp) อย่างไรก็ตาม หากตะกอนวุ้นตาอยู่ใกล้กับจอตา ตะกอนอาจไม่สามารถตรวจจับได้โดยผู้สังเกต แม้ว่ามันจะดูใหญ่ในสายตาของผู้ป่วย
การเพิ่มแสงพื้นหลังหรือการใช้แว่นรูเข็ม (Pinhole) เพื่อลดขนาดรูม่านตาอาจช่วยให้ผู้ป่วยเห็นตะกอนวุ้นตาได้ชัดเจนขึ้น และการเอียงศีรษะในทิศทางที่เหมาะสมอาจทำให้ตะกอนวุ้นตาลอยไปที่แกนกลางของดวงตา
รอยฉีกขาดในจอตามักเกิดควบคู่กับการมองเห็นตะกอนวุ้นตาใหม่ ๆ ผู้ป่วยที่เพิ่งเริ่มมองเห็นแสงวาบและ/หรือตะกอนวุ้นตา โดยเฉพาะเมื่อมีอาการเกิดขึ้นพร้อมกับการสูญเสียการมองเห็นหรือมีลานสายตาลดลงควรเข้ารับการตรวจประเมินโดยแพทย์อย่างเร่งด่วน
การรักษา
แม้จะมีการผ่าตัดเพื่อรักษาตะกอนวุ้นตากรณีรุนแรง แต่ยังไม่มีการรักษาด้วยยา (รวมถึงยาหยอดตา) ที่สามารถแก้ไขการเสื่อมสภาพของวุ้นตานี้ได้ ตะกอนวุ้นตามักเกิดจากกระบวนการเสื่อมสภาพตามธรรมชาติเมื่ออายุมากขึ้น และมักจะรบกวนน้อยลงเมื่อผู้คนเรียนรู้ที่จะมองข้ามมันไป การมองขึ้น/ลง หรือซ้าย/ขวาจะทำให้เยื่อหุ้มวุ้นตาตาหมุนจากการกลอกตาโดยฉับพลัน ส่งผลให้ตะกอนวุ้นตาเคลื่อนออกจากลานสายตาโดยตรงได้ อย่างไรก็ตาม หากตะกอนวุ้นตามีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหรือก่อผลกระทบต่อการมองเห็นอย่างรุนแรง ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาโดยวิธีดังต่อไปนี้
- การผ่าตัด
การผ่าตัดวุ้นตา (Vitrectomy) อาจรักษาตะกอนวุ้นตาชนิดรุนแรงได้ เทคนิคนี้มักจะทำโดยการเปิดแผลสามจุดผ่านส่วนของผนังลูกตา ตำแหน่งที่เรียกว่า Pars Plana โดยใช้เครื่องมือขนาดเล็ก ชิ้นหนึ่งเพื่อเป็นช่องเติมน้ำเกลือและรักษาความดันในตา อีกชิ้นเป็นแหล่งแสงไฟเบอร์ออปติก และอีกชิ้นคืออุปกรณ์ตัดวุ้นตา Vitrector
อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกับการผ่าตัดทั่วไปที่เป็นการรุกล้ำเข้าไปในร่างกาย การผ่าตัดวุ้นตาย่อมมีความเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น การแยกตัวของจอตา การหลุดลอกของวุ้นตาด้านหน้า และอาการบวมของจุดรับภาพ ภาวะเหล่านี้อาจเป็นอันตรายแก่การมองเห็นหรือทำให้ตะกอนวุ้นตาที่มีอยู่แล้วแย่ลงในกรณีที่มีการแยกตัวของจอตาได้
- การรักษาด้วยเลเซอร์วิโตรลิซิส (Laser vitreolysis)
การรักษาด้วยเลเซอร์วิโตรลิซิสเป็นทางเลือกหนึ่งเพื่อกำจัดเส้นใยวุ้นตาและความขุ่นมัวในตา (หรือตะกอนวุ้นตา) ในกระบวนการนี้จะใช้เลเซอร์ (มักเป็นเลเซอร์ YAG หรือ Yttrium Aluminium Garnet) ปล่อยแสงพลังงานต่ำในช่วงสั้น ๆ ระดับนาโนวินาทีเพื่อทำให้ความขุ่นมัวในวุ้นตาระเหยและตัดเส้นใยวุ้นตาออก
- แอโทรพีน (Atropine)
การหยอดยาหยอดแอโทรพีนในขนาดต่ำจะช่วยขยายรูม่านตา และลดการสร้างเงาบนจอตาจากตะกอนวุ้นตาได้
ระบาดวิทยา
การหลุดลอกของวุ้นตาโดยทั่วไปจะพบในผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 50 ปี และมีอัตราการเกิดเพิ่มขึ้นไปตามอายุจนถึง 80 ปี โดยผู้ที่มีภาวะสายตาสั้น (Myopia) จะมีความเสี่ยงเกิดตะกอนวุ้นตาในวุ้นตามากกว่า นอกจากนี้ ดวงตาที่มีโรคอักเสบ หรือเคยได้รับการบาดเจ็บที่ลูกตาโดยตรง หรือหลังจากการผ่าตัดตา จะมีความเสี่ยงการเกิดตะกอนเพิ่มขึ้นด้วย อนึ่ง ผู้ชายและผู้หญิงมีโอกาสเกิดอาการนี้เท่า ๆ กัน
ในสัตว์อื่น
มีทฤษฎีกล่าวว่าสัตว์ที่ไม่ใช่มนุษย์ก็สามารถเห็นตะกอนวุ้นตาได้เช่นกัน เนื่องจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมส่วนใหญ่มีโครงสร้างดวงตาที่คล้ายคลึงกับมนุษย์ อย่างไรก็ตาม ตะกอนวุ้นตาในสัตว์อาจทำให้การมองเห็นของพวกมันเสียหาย โดยสัตว์ที่มีภาวะวุ้นตาเหลว (Synchysis) มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะจอตาลอกหลุด และอาจจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด
แปลและเรียบเรียงจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Floater [2025, April 29] โดยภวรัญชน์ วีระวุฒิพล
อ่านตรวจทานโดย ผศ. นพ. ชวกิจ ภูมิบุญชู - จักษุแพทย์