ภาวะขาดวิตามินเค (Vitamin K deficiency)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ:คือโรคอะไร?พบบ่อยไหม? และแหล่งอาหาร

ภาวะขาดวิตามิน เค (Vitamin K deficiency) เป็นโรค/ภาวะผิดปกติที่เกิดจากร่างกายขาดวิตามินเค (Vitamin K) ซึ่งมีหน้าที่หลักช่วยในการแข็งตัวของเลือด ดังนั้นภาวะนี้ จึงเป็นสาเหตุให้มีเลือดออกในอวัยวะต่างๆได้ง่าย เช่น เหงือก และ/หรือในสมอง ซึ่งจะก่อให้เกิดอาการแตกต่างกันไปตามแต่อวัยวะที่มีเลือดออก เช่น อาการชัก เมื่อมีเลือดออกในสมอง รวมทั้งโรคซีด เมื่อมีเลือดออกเรื้อรัง หรือมีเลือดออกมากในอวัยวะต่างๆโดยเฉพาะในระบบทางเดินอาหาร(เลือดออกในทางเดินอาหาร)

ภาวะขาดวิตามินเค พบเกิดทุกเพศ และทุกวัย โอกาสเกิดในทั้ง2เพศเท่ากัน แต่จะพบภาวะนี้ได้บ่อยกว่ามากในเด็กแรกเกิด ทั้งนี้เพราะ

  • วิตามินเคผ่านรกได้น้อย เด็กแรกเกิดจึงไม่มีวิตามินเคเก็บสะสมในร่างกาย
  • วิตามินเค ผ่านออกทางน้ำนมได้น้อย เด็กแรกเกิดที่ดื่มนมแม่จึงขาดวิตามินเคได้ง่าย
  • นอกจากนั้น ลำไส้ใหญ่และแบคทีเรียที่ช่วยสร้างวิตามินเคในลำไส้ใหญ่ของเด็กแรกเกิดยังเจริญได้ไม่เต็มที่

ดังนั้น เมื่อรวมทั้ง 3 ปัจจัยหลักดังกล่าว จึงเป็นปัจจัยส่งเสริมให้เกิดภาวะขาดวิตามินเคในเด็กแรกเกิดได้สูง

จากการศึกษา พบภาวะขาดวิตามินเคในระดับไม่ถึงขั้นก่อให้เกิดภาวะเลือดออกในเด็กแรกเกิดอายุน้อยกว่า 5 วันได้ประมาณ 50%ของเด็กแรกเกิดทั้งหมด, พบการขาดจนเป็นสาเหตุให้เกิดเลือดออกในอวัยวะต่างๆของเด็กฯได้ประมาณ 0.25-1.7%, ส่วนในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปีที่กินนมแม่อย่างเดียว พบภาวะขาดวิตามินเคได้ประมาณ 20 ราย ต่อเด็ก 100,000 คน

ทั้งนี้โดยทั่วไป ภาวะขาดวิตามินเคไม่ค่อยพบในผู้ใหญ่ เพราะวิตามินเคมีอุดมสมบูรณ์ในพืชผักใบเขียวทุกชนิด และร่างกายต้องการเพียงในปริมาณเป็นไมโครกรัมต่อวันเท่านั้น

วิตามินเค เป็นวิตามินที่ละลายในน้ำมัน และร่างกายดูดซึมวิตามินเคจากลำไส้เล็กในภาวะที่มีอาหารไขมันและน้ำย่อยไขมันจากตับอ่อน และจากตับ (น้ำดี) ดังนั้นโรคตับอ่อนเรื้อรัง และโรคตับเรื้อรัง จึงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการขาดวิตามินเคได้

อย่างไรก็ตาม ร่างกายสามารถสร้างวิตามินเคและดูดซึมได้จากแบคทีเรียประจำถิ่น (Normal flora) ที่อาศัยอยู่ในลำไส้ใหญ่ ดังนั้น การกินยาปฏิชีวนะอย่างไม่ถูกต้อง พร่ำเพรื่อ ซึ่งจะทำลายแบคทีเรียพวกนี้ จึงเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงให้เกิดการขาดวิตามินเคได้

เมื่อวิตามินเค เข้าสู่กระแสโลหิต บางส่วนจะถูกนำไปใช้ บางส่วนจะเก็บสะสมในตับและในเนื้อเยื่อไขมัน ส่วนเกินที่เหลือจะถูกกำจัดทางตับผ่านทางน้ำดี ซึ่งกำจัดออกจากร่างกายทางอุจจาระ และบางส่วนจะถูกกำจัดออกทางไต/ทางปัสสาวะ

วิตามินเค มี 3 รูปแบบซึ่งทั้ง 3 รูปแบบมีประสิทธิภาพในการช่วยการแข็งตัวของเลือดเท่ากัน ได้แก่

  • วิตามิน เค-1 (K1) ที่มีในคลอโรฟิลล์ (Chlorophyll)ของพืชสีเขียวทุกชนิด
  • วิตามินเค-2 (K2) สร้างโดยแบคทีเรียประจำถิ่นในลำไส้ใหญ่ และแบคทีเรียเหล่านี้ยังสามารถเปลี่ยน เค-1 ให้เป็นเค-2 ได้ด้วย
  • และวิตามิน เค-3 ที่เราผลิตขึ้นเป็นยา หรือเป็นอาหารเสริม

ซึ่งวิตามินเค-1 และเค-2 จะไม่เป็นอันตราย และไม่ก่อโทษ แต่วิตามินเค-3 เมื่อได้รับในปริมาณสูงต่อเนื่องจะก่อโทษได้

แหล่งอาหาร:

วิตามินเค มีอุดมสมบูรณ์ใน ตับ และในพืชใบเขียวทุกชนิด โดยเฉพาะที่มีใบเขียวเข้ม เช่น บรอกโคลี ถัวกินฝัก กะหล่ำ หน่อไม้ฝรั่ง ผักโขม และในชาเขียว

วิตามินเค ในอาหารจะค่อยๆเสื่อมประสิทธิภาพลงเมื่อเก็บไว้นานๆ ถึงแม้จะเก็บในตู้เย็น แต่ไม่ถูกทำลายด้วยความร้อนในการปรุงอาหาร

ร่างกายต้องการวิตามิน-เควันละเท่าไร?

ตามคำแนะนำสำหรับคนทั่วไป ต่อปริมาณวิตามิน-เคที่ควรบริโภคต่อวัน (DRI, Dietary reference intakes) ของสถาบันการแพทย์แห่งชาติ แห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. Food and Nutrition Board, Institute of Medicine, National Academies) ปี ค.ศ. 2011 คือ

            

อายุ
ปริมาณวิตามิน-เค (ไมโครกรัมต่อวัน)
.
.
ทั้งเพศชายและหญิง
0-6เดือน
2.0
6-12 เดือน
2.5
1-3 ปี
30
4-8 ปี
55
ผู้ชาย
9-13 ปี
60
14-18 ปี
75
19-มากกว่า 70 ปี
120
ผู้หญิง
9-13 ปี
60
14-18ปี
75
19-มากกว่า 70 ปี
90
หญิงตั้งครรภ์
14-18 ปี
75
19-50 ปี
90
หญิงให้นมบุตร
14-18 ปี
75
19-50 ปี
90

            

วิตามิน-เคมีประโยชน์และโทษอย่างไร?

วิตามิน-เคมีประโยชน์และโทษ ดังนี้

ก. ประโยชน์ หรือ หน้าที่ของวิตามินเค คือ ทำงานร่วมกับตับและโปรตีนบางชนิดในเลือดเพื่อช่วยในการแข็งตัวของเลือด ดังนั้นเมื่อขาดวิตามินเค เลือดจึงออกง่าย

นอกจากนั้น วิตามินเค 2 ยังช่วยให้กระดูกแข็งแรง ลดโอกาสเกิดโรคกระดูกพรุน และกระดูกหัก จากสาเหตุต่างๆ เช่นจาก ใช้ยาในกลุ่มสเตียรอยด์เรื้อรัง, ขาดอาหารจากโรคตับแข็ง, โรคกระดูกพรุนที่เกิดในวัยหมดประจำเดือน, การใช้ยาต้านฮอร์โมนในผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก, และกระดูกพรุนจากกระดูกขาดการใช้งาน เช่น ในผู้ป่วยอัมพาต

ข. โทษของวิตามินเค เกิดเฉพาะกรณีกินวิตามินเค-3 เสริมอาหารปริมาณสูงต่อเนื่อง โดยอาการที่พบจากการได้วิตามินเคปริมาณสูง หรือต่อเนื่อง ได้แก่

  • เนื้อตัวแดง (Flushing)
  • มีผื่น คัน บวมทั่วตัว
  • หรือเมื่อได้รับโดยการฉีดอาจเกิดอาการแพ้ยาได้ เช่น เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก และภาวะช็อกได้
  • และที่พบได้บ้างแต่น้อย คือ เป็นสาเหตุให้เม็ดเลือดแดงแตกจนเกิดโรคซีดได้ โดยเฉพาะกับคนที่มีภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี

ภาวะขาดวิตามิน-เคมีสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?

สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะขาดวิตามินเค ได้แก่ ขาดอาหารที่มีวิตามินเค, ร่างกายดูดซึมวิตามินเคไม่ได้, และผลข้างเคียงจากยาบางชนิด

ก. ขาดอาหารที่มีวิตามินเค: มักพบในเด็กทารกแรกเกิด และทารกที่เลี้ยงด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวหลังอายุ 6 ไปแล้ว ดังได้กล่าวแล้วใน ‘บทนำ’ แต่มักไม่พบในผู้ใหญ่เพราะดังกล่าวแล้วเช่นกันว่า เป็นวิตามินที่มีอุดมสมบูรณ์ในพืชใบเขียวทุกชนิด และเป็นวิตามินที่ร่างกายต้องการในปริมาณเพียงเป็นไมโครกรัมต่อวัน ยกเว้นในผู้ป่วยติดสุราที่เป็นสาเหตุสำคัญของภาวะขาดอาหาร และโรคตับแข็ง

ข. ร่างกายดูซึมวิตามินเคได้น้อยลง: เช่น คนที่มีโรคเรื้อรังของลำไส้ เช่น โรคลำไส้อักเสบ, โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง, คนที่เคยผ่าตัดลำไส้จากโรคต่างๆ, ผู้ป่วยโรคตับเรื้อรัง (เช่น โรคไวรัสตับอักเสบเรื้อรัง และโรคตับแข็ง), และโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง (เพราะเป็นสาเหตุให้ขาดน้ำย่อยไขมันซึ่งเป็นน้ำย่อยช่วยดูดซึมวิตามินเค)

ค. ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด: เช่น ยาปฏิชีวนะที่จะฆ่าแบคทีเรียประจำถิ่นในลำไส้ใหญ่ที่ช่วยสร้างและช่วยดูดซึมวิตามินเค

นอกจากนี้ยังมียาบางชนิดที่ต้านประสิทธิภาพของวิตามินเค เช่น ยารักษาวัณโรคบางชนิด, ยากันชักบางชนิด, และยาต้านการแข็งตัวของเลือดบางชนิด(เช่น ในการรักษาภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ)

ภาวะขาดวิตามิน-เคมีอาการอย่างไร?

อาการสำคัญจากภาวะขาดวิตามินเค คือ อาการจากการมีเลือดออกได้ง่าย เช่น ผิวหนังมีจุดเลือดออกแดงๆเล็กกระจายทั่วไปคล้ายในโรคไข้เลือดออก หรือมีจ้ำห้อเลือดได้ง่าย และหายช้า และ/หรือเหงือกเลือดออกบ่อย/ต่อเนื่องขณะแปรงฟัน

นอกจากนั้น

  • อาการจะขึ้นกับว่า มีเลือดออกในอวัยวะใด ที่พบบ่อย เช่น
    • อาการชัก และ/หรือ อัมพฤกษ์- อัมพาตจากเลือดออกในสมอง
    • อาเจียนเป็นเลือดจากเลือดออกในหลอดอาหารหรือในกระเพาะอาหาร
    • อุจจาระเป็นเลือดจากเลือดออกในลำไส้ใหญ่
    • ปัสสาวะเป็นเลือดเมื่อเลือดออกในอวัยวะระบบทางเดินปัสสาวะ
    • การมีประจำเดือนมากผิดปกติในผู้หญิงวัยมีประจำเดือน
    • หรือเลือดออกมาก ออกแล้วหยุดยากเมื่อเกิดแผลต่างๆ เป็นต้น
  • นอกจากนั้น อาการอื่นๆที่อาจพบได้ คือ กระดูกหักง่ายจากโรคกระดูกพรุน

แพทย์วินิจฉัยภาวะขาดวิตามิน-เคได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยภาวะขาดวิตามินเคได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการ ประวัติการกินอาหาร กินยาต่างๆ ประวัติการเจ็บป่วยทั้งในอดีตและในปัจจุบัน
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจเลือดดูค่าสารต่างๆที่เกี่ยวข้องกับวิตามินเค

รักษาภาวะขาดวิตามิน-เคอย่างไร?

แนวทางการรักษาภาวะขาดวิตามินเค คือ

ก. การให้วิตามินเค อาจโดยการกิน, การฉีดเข้ากล้ามเนื้อ, หรือฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ซึ่งทั่วไป การให้วิตามินเค มักให้ในรูปแบบการกินเสริมอาหาร แต่ในรายที่รุนแรง อาจเป็นการฉีดได้

ข. การรักษาโรคซีดจากเลือดออก เช่น การให้เลือดเมื่อเลือดออกมาก

ค. การรักษาตามอาการ แล้วแต่ว่าเกิดอาการเลือดออกในอวัยวะใด เช่น การให้ยาป้องกันการชัก หรือการต้องผ่าตัดสมอง ในกรณีมีเลือดออกคั่งในสมอง เป็นต้น

ง. การรักษาโรคที่เป็นสาเหตุให้ขาดวิตามิน เค เช่น รักษาโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง และ

จ. การกินอาหารที่มีวิตามิน เค สูงสม่ำเสมอในทุกมื้ออาหาร

ภาวะขาดวิตามิน-เครุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?

ภาวะขาดวิตามินเค ถ้าได้รับการรักษาตั้งแต่แรกมักไม่รุนแรง/มีการพยากรณ์โรคที่ดี รักษาได้เสมอ แต่ถ้าเกิดเลือดออกรุนแรงอาจเป็นสาเหตุให้เกิดความพิการ หรือตายได้ เช่น ในภาวะเลือดออกในสมอง/ เลือดออกในกะโหลกศีรษะ เป็นต้น

ในส่วนผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญของการขาดวิตามินเค คือ การเกิดเลือดออกโดยเฉพาะในอวัยวะสำคัญ เช่น สมอง และโรคกระดูกพรุน

ดูแลตนเองอย่างไร?ควรพบแพทย์เมื่อไร?พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

การดูตนเองที่สำคัญที่สุด คือ การป้องกันไม่ให้ขาดวิตามินเค โดยการกิน

อาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบในทุกวัน, ไม่ดื่มสุรา, และเมื่อมีอาการต่างๆดังได้กล่าวแล้ว ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อหาสาเหตุ และเพื่อการรักษาที่เหมาะสมแต่เนิ่นๆ

ส่วนเมื่อพบว่าตนเองมีภาวะขาดวิตามินเค การดูแลตนเอง คือ

  • ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยา/ใช้ยาที่แพทย์แนะนำอย่างถูกต้อง ครบถ้วน ไม่ขาดยา
  • กินอาหารที่มีวิตามินเคสูงในทุกมื้ออาหาร
  • รักษา ควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
  • รีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัดเมื่อ
    • มีอาการผิดปกติไปจากเดิม และ/หรืออาการต่างๆเลวลง
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ขึ้นผื่น วิงเวียนศีรษะมาก
    • เมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันภาวะขาดวิตามิน-เคอย่างไร?

การป้องกันภาวะขาดวิตามินเค จะเช่นเดียวกับที่ได้กล่าวแล้วใน ‘หัวข้อการดูแลตนเอง’ ที่สำคัญ คือ

  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ ให้ครบถ้วนในทุกวัน
  • ไม่ดื่มสุรา จำกัดการดื่มสุรา ผู้ชายไม่ควรเกินวันละ 2 ดริงค์ ผู้หญิงไม่ควรเกินวันละ 1 ดริงค์
  • ป้องกัน รักษา ควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง

บรรณานุกรม

  1. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK56068/table/summarytables.t2/?report=objectonly [2020,March21]
  2. http://www.vaclib.org/basic/sbs/Michael-InnisJOM.pdf [2020,March21]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Vitamin_K [2020,March21]
  4. http://www.ndhealthfacts.org/wiki/Vitamin_K [2020,March21]
  5. http://en.wikipedia.org/wiki/Vitamin_K_deficiency [2020,March21]
  6. https://emedicine.medscape.com/article/126354-overview#showall [2020,March21]