มดลูกแตกในสตรีตั้งครรภ์ (Uterine rupture in pregnancy)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

มดลูกแตกในสตรีตั้งครรภ์คืออะไร? มีอันตรายมากน้อยเพียงใด?

มดลูกแตกในสตรีตั้งครรภ์ (Uterine rupture in pregnancy) หมายถึง มีการฉีกขาดของกล้ามเนื้อมดลูกตลอดความหนาของกล้ามเนื้อมดลูก  มดลูกแตกขณะตั้งครรภ์เป็นภาวะฉุกเฉินทางสูติกรรม มีอันตรายมากทั้งต่อมารดาและต่อทารกในครรภ์เพราะทำให้เกิดการเสียเลือดมากของมารดา, เกิดเลือดออกในช่องท้องมากจึงอาจทำให้ทั้งมารดาและทารกในครรภ์ ถึงตายได้

มดลูกแตกในสตรีตั้งครรภ์พบได้บ่อยหรือไม่?

มดลูกแตกขณะตั้งครรภ์-01

 

อุบัติการณ์มดลูกแตกขณะตั้งครรภ์พบได้น้อยคือประมาณ 0.07% ของการคลอดทั้งหมด ซึ่งในกรณีนี้ไม่นับรวมถึงการปริแยกของแผลที่เคยมีการผ่าท้องคลอดบุตร ที่ยังมีเนื้อเยื่อบุช่องท้องคลุมปกปิดแผลนั้นอยู่

ใครที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อมดลูกแตกขณะตั้งครรภ์?

ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อมดลูกแตกขณะตั้งครรภ์ เช่น

  • สตรีที่เคยมีประวัติมดลูกแตกมาก่อนแล้วมีการตั้งครรภ์ใหม่อีก
  • สตรีที่เคยผ่าตัดคลอดบุตร ยิ่งผ่าตัดคลอดบุตรหลายครั้งความเสี่ยงที่จะมีมดลูกแตกยิ่งเพิ่ม ขึ้น เพราะรอยแผลผ่าตัดที่ตัวมดลูก/กล้ามเนื้อมดลูกจะเป็นบริเวณที่อ่อนแอมากที่สุด เมื่อมดลูกขยายตัวมากจากการตั้งครรภ์จึงอาจทำให้เกิดการปริแตกได้ ทั้งนี้แผลผ่าตัดที่ตัวมดลูกแบบแนวยาว (Vertical cesarean section) มีโอกาสที่จะแตกได้มากกว่าผู้ที่ได้รับการผ่าตัดที่ตัวมดลูกแบบ แนวขวาง (Low transverse cesarean section)
  • สตรีที่มีการผ่าตัดที่กล้ามเนื้อมดลูกเช่น สตรีที่มีเนื้องอกมดลูกและมีการผ่าตัดเข้าไปในกล้ามเนื้อมดลูกจึงทำให้กล้ามเนื้อมดลูกอ่อนแอ เมื่อมดลูกมีการขยายตัวขณะตั้งครรภ์จึงทำให้มดลูกมีโอกาสปริแตกได้
  • สตรีที่มีมดลูกผิดปกติแต่กำเนิดทำให้กล้ามเนื้อมดลูกบางส่วนอ่อนแอ เมื่อมีการขยายตัวมากจากตั้งครรภ์และโดยเฉพาะหากได้รับยากระตุ้นการหดรัดตัวของมดลูกเพื่อช่วยการคลอดบุตร จะเกิดมดลูกปริแตกได้ง่าย
  • การที่ทารกในครรภ์อยู่ในท่าผิดปกติเช่นท่าขวาง เมื่อมดลูกบีบตัวมากทารกไม่สามารถคลอด ออกมาได้จึงมีโอกาสทำให้มดลูกแตกมากขึ้น
  • สตรีที่เคยมีการขูดมดลูกหลายๆครั้งก่อนการตั้งครรภ์ครั้งนี้ ทำให้ผนังมดลูกบางจึงมีโอกาส เกิดมดลูกแตกได้เมื่อตั้งครรภ์
  • สตรีที่มีบุตรหลายคนเพราะเป็นสาเหตุให้กล้ามเนื้อมดลูกไม่แข็งแรง
  • สตรีที่มดลูกขยายตัวมากผิดปกติ กล้ามเนื้อมดลูกจึงอ่อนแอเช่น ตั้งครรภ์แฝด, การตั้งครรภ์ พร้อมมีเนื้องอกมดลูก
  • ทารกในครรภ์ตัวโตทำให้เกิดการผิดสัดส่วนกับช่องเชิงกราน มดลูกจึงบีบตัวมากขณะคลอด จึงทำให้มดลูกมีโอกาสแตกได้
  • สตรีที่ต้องใช้เครื่องมือช่วยคลอดหรือทำหัตถการช่วยคลอดเช่น ใช้คีมช่วยคลอด หรือมีหัตถการเพื่อการหมุนเปลี่ยนท่าเด็กในครรภ์
  • สตรีตั้งครรภ์ที่ได้รับยากระตุ้นการหดรัดตัวของมดลูกเพื่อเร่งคลอดอย่างรุนแรงและยาวนาน
  • สตรีตั้งครรภ์ที่ได้รับอุบัติเหตุจนทำให้มีการกระทบกระแทกอย่างรุนแรงที่มดลูก

อาการของมดลูกแตกในสตรีตั้งครรภ์มีอย่างไรบ้าง?

อาการของมดลูกแตกในสตรีตั้งครรภ์จะเกิดขึ้นระหว่างมีการคลอดบุตร โดยอาการจะขึ้นกับความรุนแรงของการแตกของมดลูก

  • หากเป็นการปริแตกที่บริเวณของแผลที่เคยผ่าตัด เช่น เคยผ่าตัดคลอดบุตร ปริมาณเลือดที่ออกมักค่อยๆ ออกทีละน้อย อาการอาจไม่รุนแรงเท่ากับที่มีการแตกของมดลูกที่ไม่เคยมีแผลมาก่อน
  • หากมดลูกแตกเป็นรอยกว้าง เลือดจะออกมากจากแผลนั้น ทำให้เกิดอาการปวดท้องน้อยอย่างมากอย่างเฉียบพลัน ความดันโลหิตต่ำ/ตกอย่างรวดเร็ว รู้สึกหน้ามืดจะเป็นลม, เกิดภาวะช็อก, และถึงตายได้ทั้งมารดาและทารกในครรภ์

แพทย์วินิจฉัยมดลูกแตกในสตรีตั้งครรภ์อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยมดลูกแตกในสตรีตั้งครรภ์ได้โดย

ก. ประวัติทางการแพทย์: คือประวัติที่ผู้ป่วยมีปัจจัยเสี่ยงต่างๆตามที่กล่าวมาแล้วในหัวข้อ “ปัจจัย เสี่ยงฯ” หรือในกรณีที่แพทย์ให้ยากระตุ้นการหดรัดตัวของมดลูกเพื่อเร่งการเจ็บครรภ์คลอด และต่อ มาผู้ป่วยมีอาการปวดท้องน้อยอย่างมากมักร่วมกับเปลือกตา/เยื่อตาขาวซีด

ข. การตรวจร่างกาย:

  • สำหรับด้านมารดา: อาการช่วงแรกอาจเป็นการปวดท้องทั่วไปแยกยากจากการเจ็บครรภ์คลอด แต่หากมีเลือดออกในช่องท้องมากอาการผู้ป่วยจะชัดเจนมากขึ้นเช่น สัญญาณชีพเปลี่ยนแปลง ชีพจรเต้นเร็ว ความดันโลหิตต่ำ เปลือกตา/เยื่อตาขาวซีด หน้าท้องแข็งตึง ผู้ป่วยเจ็บมากเมื่อแพทย์/พยาบาลกดหน้าท้องและเกิดภาวะช็อก
  • สำหรับด้านทารกในครรภ์: แพทย์อาจคลำหน้าท้องได้ตัวทารกชัดเจนขึ้นแต่คลำไม่ได้ลักษณะ ของก้อนมดลูก (เพราะทารกแตกออกมาอยู่นอกมดลูก) การตรวจพบที่บ่อยที่สุดในระยะแรกสุดคือ เสียงจังหวะการเต้นของหัวใจทารกผิดปกติ เสียงการเต้นของหัวใจทารกตอนแรกจะเร็วแล้วค่อยๆช้าลงเพราะเลือดไปเลี้ยงทารกไม่เพียงพอ ก่อนที่จะฟังไม่ได้ยินเสียงหัวใจเต้น หากมดลูกแตกเป็นแผลใหญ่และตัวทารกหลุดออกมาจากโพรงมดลูก ทารกมักถึงตายจากมารดาเสียเลือดมาก

ค. การตรวจทางห้องปฏิบัติการ: การตรวจช่องท้องและช่องท้องน้อยด้วยเครื่องอัลตราซาวด์จะช่วยในการวินิจฉัยโรคในกรณีที่อาการมารดาและทารกไม่ชัดเจน,  อาการมารดายังไม่ทรุดมาก,  ทั้งนี้เพื่อตรวจดูว่ามีของเหลว/เลือดในช่องท้อง/ช่องท้องน้อยหรือไม่, ตรวจดูตำแหน่งทารก,และตรวจดูลักษณะของมดลูก

รักษามดลูกแตกในสตรีตั้งครรภ์อย่างไร?

การรักษามดลูกแตกขณะตั้งครรภ์ต้องเป็นการผ่าตัดโดยด่วนเพื่อช่วยชีวิตมารดาและทารก แต่ส่วนมากทารกมักเสียชีวิต

การรักษามดลูกแตกฯขึ้นกับหลายปัจจัย คือ ลักษณะของมดลูกที่แตกเช่นความกว้างและ ความลึกของแผล, ความรุนแรงของการเสียเลือดของมารดา, ความต้องการมีบุตรในอนาคต                                    

  • ในกรณีที่มารดาเสียเลือดไม่มาก แผลแตกไม่ยาว และยังต้องการมีบุตรในอนาคต, แพทย์มักทำการเย็บซ่อมมดลูกเพื่อรักษามดลูกไว้
  • แต่ในรายที่มดลูกแตกรุนแรง มีรอยแตกหลายแผล มารดาเสียเลือดมาก, แพทย์จำเป็นต้องผ่าตัดมดลูกออกเพื่อรักษาชีวิตของมารดาและของทารก

ทารกที่คลอดจากมารดาที่มีมดลูกแตกจะมีปัญหาอะไรบ้าง?

ทารกที่คลอดจากมารดาที่มีมดลูกแตกอาจพบปัญหา เช่น

  • ในกรณีรุนแรงที่สุดคือ ทารกเสียชีวิต
  • หากทารกไม่เสียชีวิต ความผิดปกติ/ปัญหาของทารกที่อาจเกิดขึ้นจะขึ้นกับว่ามารดาเสียเลือดมากน้อยเพียงใด และสามารถช่วยเหลือทารกได้รวดเร็วเพียงใด
    • กรณีทารกที่ขาดออกซิเจนนาน ทารกจะมีปัญหาเรื่องสมองขาดเลือดทำให้ทารกมีการพัฒนาล่าช้า
    • แต่หากทารกขาดออกซิเจนแต่ไม่นาน, การพัฒนาของทารกจะปกติเช่นทารกคลอดปกติทั่วไป

มดลูกแตกมีผลต่อมารดาอย่างไรบ้าง?

มดลูกแตกในสตรีตั้งครรภ์มีผล/ผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อนต่อมารดา เช่น

  • ในกรณีการแตกของมดลูกรุนแรงที่ให้การช่วยเหลือไม่ทันเป็นสาเหตุให้มารดาถึงตายได้
  • อาจได้รับการตัดมดลูกทำให้ไม่สามารถตั้งครรภ์/มีบุตรได้อีก
  • ผลจากการเสียเลือดมากและได้รับการทดแทนเลือดและสารน้ำไม่เพียงพออาจทำให้มารดาเกิดภาวะไตวายได้

ป้องกันมดลูกแตกในสตรีตั้งครรภ์ได้อย่างไร?

ป้องกันมดลูกแตกในสตรีตั้งครรภ์ได้โดย

  • จำกัดจำนวนครั้งของการตั้งครรภ์หากเคยได้รับการผ่าตัดคลอดบุตร การผ่าตัดคลอดที่มากกว่า 2 ครั้งจะเพิ่มความเสี่ยงของมดลูกแตก
  • หลังจากผ่าตัดคลอดบุตรแล้วควรเว้นระยะมีบุตรคนต่อไปให้นานมากกว่า 1 - 2 ปีขึ้นไป เพื่อช่วยให้แผลผ่าตัดมดลูกหายได้ดี
  • ต้องแจ้งสูติแพทย์เสมอหากเคยได้รับการผ่าตัดที่มดลูก เช่น ผ่าตัดเนื้องอกมดลูก

หากเกิดภาวะมดลูกแตกเมื่อรักษาหายแล้วสามารถตั้งครรภ์ครั้งใหม่ได้หรือไม่?

หากไม่ได้ตัดมดลูก หลังจากเย็บซ่อมแผลไปแล้วควรต้องรอให้แผลหายดีอย่างน้อยนาน 1 - 2 ปีขึ้นไปจึงวางแผนตั้งครรภ์ครั้งใหม่ได้ แต่ความเสี่ยงที่มดลูกจะแตกจะเพิ่มมากกว่าเดิมอีก แพทย์ต้องนัดผ่าตัดคลอดก่อนที่จะมีการเจ็บครรภ์

นอกจากนั้นยังต้องคำนึงถึงภาวะแทรกซ้อนอย่างอื่นที่สามารถเกิดได้จากการที่มีแผลที่โพรงมดลูกด้วย เช่น

  • ภาวะรกเกาะลึก/รกงอกติดในบริเวณที่เป็นรอยแผลแตกที่เย็บซ่อมไว้ หรือ
  • ภาวะรกเกาะต่ำ

ซึ่งทั้ง 2 กรณี ล้วนแต่ทำให้เกิดอันตรายมากขึ้นในการตั้งครรภ์ครั้งต่อๆไป (แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “รกงอกติด” และเรื่อง “รกเกาะต่ำ”)

ในการตั้งครรภ์ครั้งต่อไปมีความเสี่ยงที่จะเกิดมดลูกแตกอีกมีมากน้อยเพียงใด?

มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆที่จะเกิดภาวะมดลูกแตกในการตั้งครรภ์ครั้งต่อไป แต่ยังไม่มีรายงานสถิติเกิดที่แน่ชัดของมดลูกแตกกรณีเกิดจากสาเหตุนี้

สตรีที่มีมดลูกแตกเมื่อรักษาหายแล้วควรดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองของสตรีที่มีมดลูกแตกหลังการรักษาหายแล้วทั่วไป ได้แก่

  • ควรต้องดูแลสุขภาพตนเองให้แข็งแรงตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล ซึ่งโดยทั่วไป เช่น
    • การรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ)
    • การกินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ และ
    • การออกกำลังกายทุกวันตามควรกับสุขภาพ
    • เนื่องจากผ่านการเสียเลือดมามากและผ่านการผ่าตัดและผู้ป่วยอาจต้องได้รับยาจำพวก ธาตุเหล็ก (แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ com 2 บทความคือ บทความเรื่อง “ภาวะโลหิตจางจากขาดธาตุเหล็ก” และเรื่อง “ภาวะขาดธาตุเหล็ก”) เพื่อแก้ไขภาวะซีดไปสักระยะจนกว่าร่างกายจะกลับปกติ

*อนึ่ง:

  • ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ได้รับการผ่าตัดเอามดลูกออกและได้รับการทำหมัน(การทำหมันหญิง)ไปพร้อมกับการผ่าตัดเย็บซ่อมมดลูก: ก็สามารถตัดปัญหาการตั้งครรภ์ในอนาคตได้
    • สำหรับผู้ป่วยที่ไม่ได้ผ่าตัดเอามดลูกออกและไม่ได้ทำหมัน:
    • ต้องทำการคุมกำเนิดไปก่อนอย่างน้อย 1 - 2 ปีขึ้นไป ควรต้องปรึกษาสูติแพทย์ถึงวิธีการในการคุมกำเนิดที่เหมาะสมกับตัวผู้ป่วย เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ไว้ก่อน และ
    • หากวางแผนจะตั้งครรภ์หลังจากผ่านพ้นช่วงคุมกำเนิดไปแล้ว ควรต้องปรึกษาสูติแพทย์ก่อนการตั้งครรภ์เพื่อปรึกษาถึงความเสี่ยงต่างๆที่จะเกิดมดลูกแตกอีกในการตั้งครรภ์ครั้งต่อไป หรือ
    • หากต้องไปฝากครรภ์กับสูติแพทย์คนใหม่ ต้องบอกสูติแพทย์ผู้ดูแลว่าเคยมีประวัติมดลูกแตกขณะตั้งครรภ์มาแล้ว เพื่อสูติแพทย์จะได้เฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนต่างๆที่อาจเกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ เช่น รกเกาะต่ำ, รกเกาะลึก/รกงอกติด, และเพื่อวางแผนผ่าตัดคลอดในระยะเวลาที่เหมาะสมต่อไป
  • สำหรับการเป็นประจำเดือนหลังคลอดก็จะเป็นไปตามปกติ จึงดูแลในเรื่องเหล่านี้ตาม ปกติ

บรรณานุกรม

  1. https://reference.medscape.com/article/275854-overview#showall [2023,Jan21]
  2. https://www.uptodate.com/contents/uterine-rupture-unscarred-uterus [2023,Jan21]