ไอแบนโดรเนต (Ibandronate)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

ไอแบนโดรเนต (Ibandronate) คือ ยารักษาโรคกระดูกพรุน โดยเป็นยาในกลุ่มบิสฟอสโฟเนต(Bisphosphonate) ออกฤทธิ์ยับยั้งการสลายตัวของกระดูก (Osteoclastic bone resorpion) โดยยาไอแบนโดรเนตมีทั้งรูปแบบยาเม็ดรับประทานและยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำ(Intravenous/IV injection) ซึ่งรูปแบบการบริหารยาทางหลอดเลือดดำนี้จะอำนวยความสะดวกแก่ผู้ป่วยได้ดีขึ้นเนื่องจากระยะเวลาในการรับยาจะเป็นทุกๆ 2 - 3 เดือน

ยาไอแบนโดรเนตมีข้อบ่งใช้สำหรับการรักษาภาวะ/โรคกระดูกพรุนในหญิงวัยหมดประจำเดือน, ในผู้ชายเพื่อลดความเสี่ยงต่อการแตกหรือหักของ กระดูกสันหลัง กระดูกสะโพก และกระดูกตำแหน่งอื่นๆ, อีกทั้งใช้ป้องกันและรักษาโรคกระดูกพรุนสาเหตุจากการได้รับยา สเตรียรอยด์ ชนิดกลูโคคอร์ติคอยด์ (Glucocorticoid) เป็นเวลานาน, ใช้ในการรักษาภาวะแคลเซียมในเลือดสูงอันมีสาเหตุจากโรคมะเร็ง, รวมถึงบรรเทาความเจ็บ/ปวดของกระดูกและลดความผิดปกติของโครงสร้างกระดูกอันเนื่องมาจากมะเร็งเต้านมระยะลุกลามแพร่กระจายไปยังกระดูก

ยาไอแบนโดรเนตชนิดรับประทาน สามารถถูกรบกวนการดูดซึมยาจากระบบทางเดินอาหารได้จากอาหาร ดังนั้นจึงแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานยาตามวิธีการรับประทานยาที่แพทย์/เอกสาร กำกับยา/ฉลากยาแนะนำอย่างเคร่งครัด เพื่อประสิทธิภาพในการรักษาของยาและลดโอกาสการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง) จากยา

ยาไอแบนโดรเนตมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

ไอแบนโดรเนต-01

ยาไอแบนโดรเนตมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • รักษาภาวะกระดูกพรุนในหญิงวัยหมดประจำเดือน, และในผู้ชายเพื่อลดความเสี่ยงต่อการแตกหรือหักของกระดูกสันหลัง กระดูกสะโพก และกระดูกตำแหน่งอื่นๆ
  • รักษาภาวะแคลเซียมในเลือดสูงอันมีสาเหตุจากโรคมะเร็ง และลดความเจ็บ/ปวดกระดูก
  • ลดความผิดปกติของโครงสร้างกระดูกอันเนื่องมาจากมะเร็งเต้านมในระยะแพร่กระจายมากระดูก

ยาไอแบนโดรเนตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาไอแบนโดรเนตเป็นยาในกลุ่มบิสฟอสโฟเนต และมีโครงสร้างคล้ายกับสารไพโรฟอสเฟต (Pyrophosphate) ที่ได้จากธรรมชาติซึ่งมีหน้าที่ยับยั้งการสลายกระดูก โดยยาไอแบนโดรเนตจะเข้าจับกับเนื้อเยื่อกระดูก จากนั้นยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการสลายตัวของกระดูก ซึ่งจะส่งผลทางอ้อมทำให้ความหนาแน่น/มวลกระดูกเพิ่มมากขึ้น

ยาไอแบนโดรเนตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

รูปแบบที่มีจำหน่ายของยาไอแบนโดรเนต:

  • ยาเม็ดเคลือบฟิล์ม (Film-coated tablet): ขนาดยา 2.5 และ 150 มิลลิกรัมต่อเม็ด
  • ยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำบรรจุในกระบอกฉีดยาพร้อมฉีด(Prefilled syringe for injection): ขนาดยา 1 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร ขนาดบรรจุ 3 มิลลิลิตรต่อกระบอกฉีดยา

ยาไอแบนโดรเนตมีขนาดหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?

ยาไอแบนโดรเนตมีขนาดหรือวิธีใช้ยา: เช่น

1. ขนาดยาไอแบนโดรเนตชนิดรับประทานสำหรับการรักษาภาวะ/โรคกระดูกพรุนที่แนะนำในผู้ใหญ่ (ไม่พบโรคนี้ในเด็ก/นิยามคำว่าเด็ก): เช่น 2.5 มิลลิกรัมวันละ 1 ครั้ง, หรือ 150 มิลลิกรัมเดือนละ 1 ครั้ง, โดยควรรับประทานยาในวันเดียวกันของแต่ละเดือน, ทั้งนี้ขนาดยาและวิธีการรับประทานยาของผู้ป่วยจะแตกต่างกันขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา

2. วิธีการรับประทานยาไอแบนโดรเนต: แนะนำผู้ป่วยรับประทานยานี้ก่อนอาหารอย่างน้อย 30 นาที ก่อนรับประทานอาหารมื้อแรก (ก่อนอาหารเช้า) หรือก่อนรับประทานยาอื่นๆ, โดยรับประ ทานยานี้พร้อมน้ำเปล่าเท่านั้น (น้ำแร่ควรหลีกเลี่ยงเช่นกัน) ประมาณ 1 - 2 แก้ว (ประมาณ 200 มิลลิลิตร), หลีกเลี่ยงรับประทานยานี้คู่กับผลิตภัณฑ์ยาที่มีส่วนประกอบของไอออนบวกหลายประจุ เช่น แคลเซียม แมกนีเซียม อะลูมิเนียม เหล็ก เนื่องจากการดูดซึมยาไอแบนโดรเนตจะถูกรบกวนโดยผลิตภัณฑ์ยาดังกล่าวรวมทั้งจากอาหารด้วย, ดังนั้นเพื่อให้การดูดซึมยาจากระบบทางเดินอาหารเพียงพอ ควรปฏิบัติตามวิธีการรับประทานยาที่แนะนำอย่างเคร่งครัด

กรณีที่ไม่สามารถรับประทานยานี้ก่อนอาหารเช้าได้ สามารถรับประทานยานี้เป็นเวลาอื่นได้ เช่น เที่ยง, เย็น หรือก่อนเข้านอนอย่างน้อย 30 นาที, โดยควรรับประทานยาในเวลาเดิมทุกวัน, แต่จำเป็นต้องรับประทานยาในช่วงท้องว่าง คือ ก่อนอาหารอย่างน้อย 30 นาที หรือหลังอาหารมื้อใดก็ได้ที่หลังจากรับประทานเสร็จไปแล้วประมาณ 2 ชั่วโมงจึงค่อยรับประทานยานี้

การรับประทานยาไอแบนโดรเนตให้กลืนยานี้ทั้งเม็ด, ห้ามเคี้ยวเม็ดยา หัก บด หรือแบ่งยานี้โดยเด็ดขาด, โดยรับประทานยาในท่านั่งตัวตรง หรือ ท่ายืนเท่านั้น เพื่อให้เม็ดยาเดินทางสู่กระเพาะอาหารได้สะดวก, ห้ามนอนราบหรือเอนตัวมากๆในระยะเวลาประมาณ 30 นาทีหลังรับประทานยานี้เพราะมีรายงานการเกิดหลอดอาหารอักเสบและแผลในกระเพาะอาหารจากการรับประทานยาในกลุ่มนี้ที่จัดท่าทางไม่ถูกต้อง

3. ขนาดยาไอแบนโดรเนตชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดดำสำหรับการรักษาภาวะกระดูกพรุนที่แนะนำในผู้ใหญ่ เช่น 3 มิลลิกรัมฉีดเข้าหลอดเลือดดำทุก 3 เดือน, ใช้ระยะเวลาในการให้ยาประมาณ 2 ชั่วโมงเพื่อลดโอกาสเกิดอาการไม่พึงประสงค์/ผลข้างเคียง

4. ผู้ป่วยที่กำลังรับการรักษาภาวะกระดูกพรุนด้วยยาไอแบนโดรเนต ควรได้รับการเสริมยาแคลเซียมและยาวิตามินดีร่วมด้วยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา ทั้งนี้อยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

5. ขนาดยาไอแบนโดรเนตชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดดำสำหรับการรักษาภาวะแคลเซียมในเลือดสูง เช่น 2 - 4 มิลลิกรัมฉีดเข้าหลอดเลือดดำใช้ระยะเวลาในการให้ยา 2 ชั่วโมงเพื่อลดโอกาสเกิดอาการไม่พึงประสงค์

6. ขนาดยาและการปรับขนาดยาในผู้ป่วยไตบกพร่อง: ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยานี้ในผู้ป่วยไตบกพร่องเล็กน้อยถึงปานกลาง แต่ห้ามใช้ยาไอแบนโดรเนตในผู้ป่วยที่มีไตบกพร่องรุนแรง (ค่าการทำงานของไตน้อยกว่า 30 มิลลิลิตร/นาที)

7. ขนาดยาและการปรับขนาดยาในผู้ป่วยตับบกพร่อง: ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยาในผู้ป่วยตับบกพร่อง

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาไอแบนโดรเนต ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยา/แพ้อาหาร/แพ้สารเคมีทุกชนิด
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไอแบนโดรเนตอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อนแล้ว
  • สุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เนื่องจากการใช้ยาไอแบนโดรเนตขณะตั้งครรภ์มีความเสี่ยง อีกทั้งการขับออกของยาทางน้ำนมยังไม่แน่ชัด ยานี้อาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา/ผลข้างเคียงรุนแรงแก่บุตรได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการให้นมบุตรในช่วงการใช้ยานี้อยู่

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาไอแบนโดรเนต ควรปฏิบัติดังนี้ เช่น

1. สำหรับยาไอแบนโดรเนตขนาด 2.5 มิลลิกรัมรับประทานวันละ 1 ครั้ง: หากลืมรับประทานยาไอแบนโดรเนตขนาดดังกล่าว สามารถรับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ โดยควรรับประทานตามวิธีการรับประทานยาที่แนะนำไว้, แต่หากนึกขึ้นได้ใกล้กับเวลารับประทานยามื้อถัดไป คือ นึกขึ้นได้ช่วงที่เกินกว่า 12 ชั่วโมงจากเวลาที่รับประทานยาปกติ ให้ข้ามมื้อยาที่ลืมไป รับประทานยามื้อต่อไปในขนาดยาปกติโดยไม่ต้องรับประทานยาเพิ่มเป็น 2 เท่า

2. สำหรับยาไอแบนโดรเนตขนาด 150 มิลลิกรัมรับประทานเดือนละ 1 ครั้ง: หากลืมรับประ ทานยาไอแบนโดรเนตขนาดดังกล่าว ให้รับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ โดยควรรับประทานตามวิธีการรับประทานยาที่แนะนำไว้, แต่หากนึกขึ้นได้ในช่วงอีกภายใน 7 วันข้างหน้าจะถึงวันที่ต้องรับ ประทานยาครั้งถัดไป (ของเดือนถัดไป) ให้รอรับประทานยาครั้งถัดไปตามวันเดิมของเดือนถัดไป โดยไม่ต้องนำยาไอแบนโดรเนตเม็ดที่ลืมของเดือนเก่ามารับประทานอีก, *ห้ามรับประทานยา 2 เม็ดต่อช่วงเวลา 7 วันโดยเด็ดขาด

ยาไอแบนโดรเนตมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไอแบนโดรเนตมีผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการไม่พึงประสงค์): เช่น

  • อาการไม่พึงประสงค์ฯของยาไอแบนโดรเนตที่’พบบ่อย’: เช่น แสบท้อง/ไม่สบายท้อง (Dyspepsia), ปวดหลัง, ท้องผูก, อาหารไม่ย่อย, คลื่นไส้, ปวดท้อง, ท้องเสีย, ปวดหัว, ความดันโลหิตสูง, ผื่นแพ้บริเวณผิวหนัง
  • *อาการไม่พึงประสงค์ฯที่พบ’ไม่บ่อย’แต่รุนแรง: เช่น หลอดอาหารอักเสบ, แผลในหลอดอาหาร, หลอดอาหารตีบ, กลืนลำบาก, ลำไส้เล็กส่วนต้นอักเสบ, กระดูกขากรรไกรตาย/กระดูกตาย, อาการบวมตามร่างกาย และเกิดตุ่มพองที่ผิวหนัง
  • อาการไม่พึงประสงค์ฯของยาไอแบนโดรเนตชนิดฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำที่อาจพบได้บ่อย ไม่รุนแรง และมักเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว: เช่น อาการคล้ายมีไข้ หนาวสั่น ใบหน้าแดง ปวดกระดูก และ/หรือ ข้ออักเสบ กล้ามเนื้ออักเสบ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงการให้ยาทางหลอดเลือดดำ, และอาการอาจคงอยู่ไปได้อีก 3 - 14 วันหลังได้รับยานี้, สามารถป้องกันอาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าวได้โดยการเจือจางยาด้วยสารละลายที่แนะนำในเอกสารกำกับยา/ ฉลากยาก่อน, และระยะเวลาในการบริหารยา/ให้ยาอย่างน้อยต้องนาน 120 นาที

มีข้อควรระวังการใช้ยาไอแบนโดรเนตอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไอแบนโดรเนต: เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่แพ้ยานี้หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
  • ระมัดระวังการใช้/ห้ามใช้ยาไอแบนโดรดเนตกับผู้ป่วยที่มีประวัติความผิดปกติของ หลอดอาหารซึ่งทำให้การบีบเคลื่อนหรือการไล่อาหารช้าลง เช่น หลอดอาหารตีบ หรือเกิดภาวะกล้ามเนื้อเรียบของหลอดอาหารไม่คลายตัว/อะคาเลเซีย (Achalasia, หรือผู้ที่ไม่สามารถจัดท่าทางของร่างกายหลังรับประทานยานี้ให้อยู่ในท่าตรงโดยไม่นอนรอบหรือเอนตัวมากๆได้ในเวลาอย่างน้อย 30 นาที
  • ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคไตวาย และผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตบกพร่องรุนแรง
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาไอแบนโดรเนตในสตรีที่กำลังตั้งครรภ์ เนื่องจากยาในกลุ่มบิสฟอสโฟ เนตสามารถสะสมในกระดูก จากนั้นยาบิสฟอสฟาเนตจะค่อยๆสลายตัวออกสู่ร่างกาย, พบว่ายาบิสฟอสโฟเนตที่ถูกหลั่งออกมานั้นสามารถรบกวนระดับแคลเซียมของทารกในครรภ์ให้เกิดความผิดปกติได้ ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงอันตรายต่อทารกในครรภ์
  • มีรายงานพบการตายของกระดูกขากรรไกร (Osteonecrosis of the jaw) ได้ ซึ่งโดยทั่วไปมักเกิดหลังจากการถอนฟันและ/หรือจากการติดเชื้อเฉพาะที่กระดูกกรามหรือเหงือก, รวมถึงภาวะอักเสบของกระดูกกราม(Osteomyelitis of jaw)
    • ในผู้ป่วยกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงเกิดการตายของกระดูกขากรรไกร เช่น โรคมะเร็ง, ได้รับ ยาเคมีบำบัด, รังสีรักษาบริเวณช่องปาก, ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid/Glucocorticoid), มีปัญหาสุขอนามัยในช่องปาก, แพทย์อาจพิจารณาทำทันตกรรมเพื่อป้องกัน (Preventive dentistry)ก่อนให้การรักษาด้วยยากลุ่มบิสฟอสโฟเนต และแพทย์จะหลีกเลี่ยงวิธีการทางทันตกรรมที่รุนแรง (Invasive procedure) ขณะได้รับยากลุ่มบิสฟอสโฟเนต, ดังนั้นจึงอาจมีการปรึกษาทันตแพทย์ก่อนการใช้ยานี้เพื่อประเมินทางทันตกรรมก่อนเริ่มใช้ยานี้
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาไอแบนโดรเนต) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ไอแบนโดรเนตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไอแบนโดรเนต มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นได้หลากหลายตัวยา จึงไม่ขอกล่าวใน บทความนี้ แนะนำอ่านเพิ่มเติมจาก ‘บรรณานุกรม 5’น

ควรเก็บรักษาไอแบนโดรเนตอย่างไร?

แนะนำเก็บยาไอแบโดรเนตทั้งชนิดยาเม็ดและยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำ: เช่น

  • เก็บยา ณ อุณหภูมิห้อง
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาให้พ้นจากแสงแดดและแสงสว่างที่กระทบยาได้โดยตรง
  • หลีกเลี่ยงนำยาสัมผัสกับความร้อนที่มาก เช่น เก็บยาในรถที่ตากแดดหรือเก็บยาในห้องที่มีอุณหภูมิสูง (มีแสงแดดส่องถึงทั้งวันหรือเป็นเวลานาน)
  • ไม่เก็บยาในห้องที่ชื้น เช่น ห้องน้ำ หรือห้องครัว
  • ควรเก็บยาในภาชนะบรรจุเดิม
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ยาไอแบนโดรเนตมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไอแบโดรเนต มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Bonviva (Ibandronate 2.5 mg) tablet Roche
Bonviva (Ibandronate 150 mg) tablet Roche
Bonviva (Ibandronate 1mg/mL, 3 mL) Prefilled syringe for injection Roche

 

บรรณานุกรม

  1. Lacy CF. Amstrong LL, Goldman MP, Lance LL. Drug Information handbook. 20th ed. Ohio: Lexi-Comp,Inc.; 2011-12. Product Information: Bonviva, Ibandronate, Roche.
  2. ฉัตรเลิศ พงษ์ไชยกุล. Bisphosphonatesใน: ฉัตรเลิศ พงษ์ไชยกุล., บรรณาธิการ. ตำราโรคกระดูกพรุน 2. กรุงเทพมหานคร: บริษัทโฮลิสติก พับลิชชิ่ง. 2552
  3. https://www.drugs.com/mtm/ibandronate-oral-injection.html [2022,July23]
  4. https://www.drugs.com/drug-interactions/ibandronate.html [2022,July23]